เฟิร์น ที่เติบโตบนต้นปาล์ม ส่งผลเสียต่อปาล์มน้ำมันหรือไม่? แท้จริงแล้วมีประโยชน์อะไร?
เฟิร์น หรือ เฟิน (อังกฤษ: fern) เป็นพืชที่มีท่อลำเลียงที่ไม่มีเมล็ด และมีใบที่แท้จริง ส่วนระบบสืบพันธุ์ไม่มีดอกและเมล็ด มีวงจรชีวิตแบบสลับที่มีระยะสปอร์ (spore) และระยะสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเมีย มีถิ่นอาศัยอยู่หลากหลายพื้นที่ เช่น บนภูเขาสูง พื้นที่โล่ง ในน้ำ บนหินในทะเลทรายที่แห้งแล้ง โดยทั่วไปต้นเฟิร์นสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มเฟิร์นดิน-ทนแดด (terrestrial-sun-ferns)
2. กลุ่มเฟิร์นดิน-ชอบร่มเงา (terrestrial-shade-ferns)
3. กลุ่มเฟิร์นเถาเลื้อย (climbing ferns)
4. กลุ่มเฟิร์นเกาะอาศัย หรือไม้อากาศ (epiphytes)
5. กลุ่มเฟิร์นผา (lithophytic ferns หรือ rock ferns)
6. กลุ่มเฟิร์นน้ำ (aquatic ferns)
7. กลุ่มเฟิร์นภูเขา (mountain fern)

ได้มีการศึกษาความหลากหลายของเฟิร์นในสวนปาล์มน้ำมันบริเวณจังหวัด กระบี่ ชุมพร ตรัง สงขลา สตูล และสุราษฎรธานี จำนวน 10 แปลง ในช่วงเดือน พ.ย. 2550-2551 สำรวจพบเฟิร์นในสวนปาล์ม 11 ชนิด 10 สกุล ใน 8 วงศ์ พบ เฟิร์นใบมะขาม (Nephrolepis biserrata (Sw.) Schott) เท่ากับ 69.18% มากกว่าเฟิร์นชนิดอื่น รองลงมาคือ เฟิร์นนาคราช (Davallia denticulata (Brum.f.) Mett. exKuhn) เท่ากับ  26.63% เพราะเฟิร์นทั้งสองชนิดนี้เป็นเฟิร์นที่ชอบร่มเงาไม่ชอบแดดจัด การพรางแสงแดดที่ระดับ 80% และ 40% จะเติบโตได้ดี พบว่ามีการเจริญบริเวนซอกลำต้นและฐานของทางใบของต้นปาล์มที่ตัดออกไปแล้วเพราะมีอินทรียวัตถุสูง
 
 

เฟิร์นที่เติบโตบนต้นปาล์ม ส่งผลเสียหรือไม่?
เฟิร์นที่งอกบริเวณกาบต้นปาล์มน้ำมันจะไม่แย่งอาหารจากต้นปาล์มเพราะเฟิร์นดังกล่าวจะกินอาหารจากทางปาล์มที่ตายและย่อยสลายแล้ว ซึ่งก็คืออินทรียวัตถุที่เป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้กับเฟิร์น เมื่อต้นปาล์มอายุประมาณ 5 ปี จะเริ่มมีร่มเงาระหว่างแถวมากขึ้น และจะมีร่องรอยการตัดแต่งทางใบบริเวณลำต้นทำให้เฟิร์นเริ่มสามารถเจริญอยู่ได้ทั้งบริเวณลำต้นและโคนต้น โดยมีทั้งกลุ่มเฟิร์นที่เจริญได้ดีภายใต้ร่มเงา เช่น เฟิร์นอิงอาศัย, รักษ์เฟิร์น, ชายผ้าสีดา, เฟิร์นใบมะขาม, เฟิร์นนาคราช, ข้าหลวงหลังลาย, กระแตไต่ไม้, กะเรกะร่อน เป็นต้น

การที่เฟิร์นสามารถเจริญเติบโตได้ดีบริเวณลำต้นปาล์มได้เนื่องจากระหว่างซอกทางใบจะมีเศษซากวัสดุตามธรรมชาติสะสมอยู่
ทำให้กลายเป็นวัสดุปลูกอย่างดีและยังเก็บความชื้นได้ดี อีกทั้งในสวนปาล์มยังมีแสงแดด อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ ในระดับที่พอเหมาะ การเจริญเติบโตของเฟิร์นจึงไม่ส่งผลกระทบและไม่เป็นการแย่งสารอาหารจากต้นปาล์มน้ำมันแต่อย่างใด

ความชื้นสัมพัทธ์ในระดับต่างๆ

ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยในรอบปี (เปอร์เซ็นต์) การเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน
น้อยกว่า 77 น้อย
78 – 79 ปานกลาง
80 – 85 ดี

เฟิร์นดัชนีชี้วัดความชื้นสัมพัทธ์ในสวนปาล์มน้ำมัน
จากการศึกษาพบว่าอุณหภูมิในสวนปาล์มที่ทำการศึกษา ช่วง มี.ค.-ก.ย. 2551 (สวนปาล์มของเกษตรกร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา) มีค่าอุณหภูมิสูงสุดเท่ากับ  31.83 °C  และต่ำสุดเท่ากับ  23.21 °C  ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุด 100%  และต่ำสุดที่ 69.64% พอสรุปได้ว่า การเจริญเติบโตของเฟิร์นจะบอกถึงความชุ่มชื้นในสวนปาล์มได้ ถ้าเฟิร์นเจริญได้ดีนั้นย่อมแสดงว่าภายในสวนปาล์มนั้นๆมีความชื้นสัมพัทธ์สูง  เฟิร์นจึงมีประโยชน์ในการใช้เป็นดัชนีชี้วัดความชื้นสัมพัทธ์ในสวนปาล์มน้ำมันได้ และเมื่อพบว่ามีเฟิร์นอยู่บนต้นปาล์มของเราเริ่มเหี่ยวเฉาและแห้ง ก็จะเป็นดัชนีบ่งชี้ว่าภายในสวนของเราเริ่มมีความชื้นสัมพัทธ์น้อยลงหรือกำลังเข้าสู่ฤดูร้อนนั้นเอง

เฟิร์นประโยชน์และคุณค่าทางเศรษฐกิจ
เฟิร์นนั้นมีสีสันรูปทรงพุ่มสวยงาม ให้ความรู้สึกถึงความเยือกเย็น ชุ่มชื่น จึงนิยมนำมาใช้งานตกแต่งต่างๆอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้เฟิร์นยังมีคุณค่าและประโยชน์มากมายพอสรุปได้ดังนี้
  • แยกเหง้าหรือเพาะสปอร์ เพื่อเพาะพันธุ์จำหน่ายเชิงการค้า
  • ใช้เป็นไม้ประดับ ตกแต่งสวน
  • ใช้เป็นไม้ประดับ ตกแต่งอาคาร และงานสถาปัตยกรรม
  • ใช้ประดับแจกัน ตกแต่งช่อดอกไม้ พวงดอกไม้ จัดดอกไม้งานพิธีต่างๆ
  • ใช้ป้องกันอสรพิษ นิยมพกติดตัวเวลาเข้าป่า
  • ใช้เป็นสมุนไพร บรรเทาพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ โดยนำเหง้ามาฝนกับน้ำซาวข้าวหรือเหล้า แล้วทาบริเวณที่เกิดอาการ
ประโยชน์มากมายขนาดนี้..เกษตรกรสวนปาล์มน้ำมันท่านใดสนใจ ลองศึกษาหาข้อมูลเพาะพันธุ์เฟิร์นเพื่อจำหน่ายหารายได้เสริมเพิ่มเติมกันได้


อ้างอิง : http://www.cpiagrotech.com/category/knowledge/