การใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน ถือเป็นไม้ยืนต้นที่มีอัตราเติบโตและให้ผลผลิตที่สูง อีกทั้งเป็นผลผลิตในรูป "น้ำมัน" ซึ่งมีต้นทุนในการสังเคราะห์แสงสูงกว่าการสร้างแป้งและโปรตีน ปาล์มน้ำมันจึงต้องการธาตุอาหารพืชในปริมาณที่มาก วิธีการใส่ปุ๋ยที่สวนของ ซีพีไอ ที่ใช้ได้ผลมาโดยตลอด คือ การใส่ปุ๋ยให้เพียงพอต่อการสร้างต้นและเพื่อการสร้างทะลาย กล่าวคือปุ๋ยส่วนหนึ่งให้ธาตุอาหารที่จะถูกตรึงอยู่ในมวลของต้น ได้แก่ ใบ ลำต้น รากที่เพิ่มขึ้นต่อปี และปุ๋ยอีกส่วนหนึ่งให้ธาตุอาหารเพื่อชดเชยกับที่ติดไปกับทะลายที่นำออกจากสวน

การชดเชยธาตุอาหารตามผลผลิตทะลายที่นำออกไปจึงเป็นการคืนธาตุอาหารให้กับดิน ซึ่งจะทำให้สามารถรักษากำลังผลิตของดินให้ยั่งยืน กล่าวคือแปลงที่ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูงจะได้รับปุ๋ยคืนสู่ดินในปริมาณสูงไปด้วยขณะที่แปลงที่มีผลผลิตต่ำ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เพราะขาดธาตุอาหารเพียงอย่างเดียวจะไม่มีการให้ปุ๋ยฟุ่มเฟือย อีกทั้งวิธีนี้เหมือนบังคับให้ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันต้องมีการเก็บข้อมูลผลผลิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อจะได้สามารถประเมินประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยและค่าใช้จ่ายในการจัดการที่คุ้มการลงทุน ปริมาณธาตุอาหารในรูปของปุ๋ยเคมีที่ใช้เพื่อสร้างต้นก่อนให้ทะลาย กับที่ต้องใช้ทั้งในการสร้างต้นและสร้างทะลายไ

การศึกษามวลชีวภาพและปริมาณอาหารพืช เพื่อคำนวนการใส่ปุ๋ย
การศึกษามวลชีวภาพและปริมาณอาหารพืช ของแต่ละชิ้นส่วนของต้นปาล์ม เช่น ใบ ทางใบลำต้น รากและทะลาย เพื่อใช้คำนวณเป็นระดับอ้างอิงในการใส่ปุ๋ยให้กับต้นปาล์ม ของ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด ทำงานร่วมกับ นักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ม.เกษตรศาสตร์

แนวทาง การใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน มีดังนี้
  • เนื่องจากดินปลูกปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่เป็นดินเนื้อหยาบ สามารถดูดซับธาตุอาหารพืชในปุ๋ยเคมีได้ในปริมาณน้อย มีโอกาสสูญเสียไปกับการชะล้างของฝนได้ จึงควรเติมอินทรียวัตถุลงดินก่อน เช่นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในขณะที่ต้นปาล์มยังเล็ก หรือใช้ทะลายปาล์มเปล่าคลุมโคนและพยายามเติมให้ได้ทุกปี
    เมื่อต้นโตให้สร้างแถวกองทาง คือนำใบที่ตัดออกจากต้นมากองเป็นแนวขนานกับแถวปาล์มน้ำมัน แถวเว้นแถวหรือทุกแถว 
    วางทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ เวลาใส่ปุ๋ยเคมีให้สาดใส่บนอินทรีย์วัตถุหรือบนกองทางใบ อินทรียวัตถุที่ได้จากการย่อยสลายของทางใบเป็นตัวช่วยตรึงปุ๋ยไม่ให้ถูกน้ำชะล้างไป และยังช่วยรักษากิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินให้ช่วยย่อยทางใบและสลายเป็นอินทรียวัตถุบำรุงดินได้เร็วขึ้นต่อไป
  • การใส่ปุ๋ยเคมีหลัก กับ ปูนโดโลไมท์ จะทำให้ต้นปาล์มน้ำมันได้ธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และกำมะถัน ซึ่งเป็นธาตุที่ต้นพืชต้องการในปริมาณที่มาก 
  • ส่วนจุลธาตุอื่นๆ  เช่น "โบรอน" เป็นธาตุอาหารที่ต้นปาล์มน้ำมันต้องการชัดเจน จึงควรใส่โบรอนทุกปีโดยเฉพาะเมื่อใบแสดงอาการขาด ใส่ในรูปของปุ๋ยที่ให้ทางดิน ชื่อทางการค้า Fertibor หรือ Quibor มี 15%B แนะนำให้ใส่ในปริมาณ 50-100 กรัม/ต้น/ปี
  • ส่วนจุลธาตุที่มีโอกาสขาดได้คือ ธาตุทองแดงกับสังกะสี ซึ่งควรใส่โดยพิจารณาจากค่าวิเคราะห์เคมีของใบ (ปริมาณแนะนำคือ  30-50 กรัม/ต้น/ปี) โดยวิธีการใส่จุลธาตุก็หว่านไปบนกองทางเช่นเดียวกับปุ๋ยเคมี
  • การใส่ปุ๋ยควรใส่หลังจากที่มีการกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นปาล์ม เพื่อลดการแข่งขันในการดูดธาตุอาหารระหว่างปาล์มน้ำมันกับวัชพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ต้นปาล์มมีขนาดเล็ก

ลำดับการใส่ปุ๋ยในรอบปี
การใส่แม่ปุ๋ยชนิดต่างๆ ให้พิจารณาจากความยากง่ายในการละลายน้ำของปุ๋ย ดังนี้
  • ปุ๋ยหินฟอสเฟตและโดโลไมท์ มีความสามารถในการละลายน้ำได้น้อย จึงใส่ในช่วงไหนของปีก็ได้ เพียงแต่ต้องระวังที่ลาดชันมากๆที่มีน้ำไหลบ่าพาปุ๋ยออกจากพื้นที่
  • ส่วนปุ๋ยที่ละลายในน้ำได้มากคือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต(21-0-0) หรือยูเรีย และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) ควรแบ่งใส่อย่างน้อยเป็น 2 ครั้ง
    -ครั้งแรกในช่วงต้นฝนและอีกครั้งในช่วงปลายฝน คือ ประมาณ 60% ของปริมาณปุ๋ยที่ต้องใส่ทั้งปี เพราะเมื่อฝนตกต้นปาล์มจะได้นำปุ๋ยไปใช้ได้ทันที
    -ปุ๋ยส่วนที่เหลือค่อยใส่ตอนปลายฝน เพราะช่วงฝนจะมีความลำบากในการเข้าไปปฏิบัติงานในสวน ให้หลีกเลี่ยงช่วงฝนตกชุกที่มีโอกาสของการชะปุ๋ยไปตามน้ำฝน หรือจะแบ่งใส่เป็น 3 ครั้งต่อปี คือ ต้นฝน 40% กลางฝน 30% และปลายฝน 30% ของปริมาณปุ๋ยที่ต้องใส่ทั้งปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแรงงานที่มี
  • ปูนโดโลไมท์มีระดับความเป็นด่างสูง หากให้ปุ๋ยไนโตรเจนสัมผัสกับปูนโดยตรง จะมีโอกาสที่สารประกอบไนโตรเจนถูกเปลี่ยนเป็นแก๊สแอมโมเนีย ซึ่งจะระเหยสูญเสียจากดินได้ จึงเป็นข้อแนะนำว่าการใส่ปูน ให้โรยเป็นทางด้านหนึ่ง 
  • ส่วนการใส่ปุ๋ยตัวอื่นให้ใส่บนกองทางที่จะไม่ทับลงไป บนปูนโดยตรง การใส่ปุ๋ยตัวอื่นๆให้หว่านกระจายไปทั่วกองทางให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้จะช่วยให้ชิ้นส่วนทางใบถูกย่อยสลายได้ง่ายขึ้นด้วย

ช่วงเวลาในการใส่ปุ๋ย
เรื่องของเวลาในการเลือกใส่ปุ๋ย นั้นเป็นสิ่งที่เกษตรควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก การใส่ปุ๋ยในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ประสิทธิภาพลดลง (การตอบสนองของปาล์มน้ำมันต่อการใส่ปุ๋ยลดลง ธาตุอาหารในปุ๋ยสูญเสียไป)

แนะนำช่วงเวลาที่เหมาะในการใส่ปุ๋ย
หลังช่วงเดือนที่มีฝนตกเล็กน้อย ช่วงที่ดินมีความชื้นในระดับที่เหมาะสม

ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงในการใส่ปุ๋ย
  • เลี่ยงเดือนที่มีฝนตกหนัก หรือหลังช่วงที่ฝนตกติดต่อเนื่องยาวนาน เพราะจะทำให้ธาตุอาหารถูกชะล้างไปกับฝนได้ง่าย (ช่วงเดือนที่มีปริมาณฝนตกมากกว่า 250 มม./เดือน)
  • เลี่ยงช่วงหน้าแล้ง เพราะเป็นฤดูที่การเคลื่อนย้ายของธาตุอาหารจากดินไปสู่รากพืชลดลง (ช่วงในเดือนที่ฝนตกน้อยกว่า 25 มม./เดือน)
  • เลี่ยงเดือนที่มีฝนตก จำนวนมากกว่า 15 วัน/เดือน 

ข้อควรเข้าใจคือ ท่อน้ำและท่ออาหารภายในลำต้นพืชมีการเชื่อมติดต่อถึงกัน การให้พื้นที่บางบริเวณของดินในเขตรากพืชมีความชื้นและมีธาตุอาหารเพียงพอ จะทำให้เกิดกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินได้มาก ซึ่งจะส่งเสริมการดูดใช้ธาตุอาหารของต้นพืชได้ผลดีกว่าการหว่านลงดินทั่วบริเวณต้น (แบบหว่านรอบโคนต้น) ที่มีสภาพแห้งและมีกิจกรรมจุลินทรีย์น้อย การสร้างกองทางใบ จึงเป็นแนวทางที่เราแนะนำให้ปฏิบัติเพราะช่วยลดการระเหยของน้ำ โดยข้างใต้กองทางเป็นจุดที่รักษาความชื้นได้ดี และเป็นบริเวณที่รากของต้นปาล์มน้ำมันจะขยายแผ่มาอยู่อย่างหนาแน่น และรากปาล์มสามารถยังชีวิตอยู่ได้ในช่วงแล้ง

อ้างอิง : http://www.cpiagrotech.com/category/knowledge/