หนู จัดเป็นศัตรูสวนปาล์มที่สำคัญสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มอย่างมาก นอกจากการเลี้ยงนกแสกเพื่อกำจัดหนูแล้ว แต่ปัจจุบันนี้มีวิธีกำจัดหนูอีกวิธีที่ได้ผล คือ การใช้เหยื่อโปรโตซัวสำเร็จรูปในการกำจัดหนู ซึ่งเหยื่อโปรโตซัวนี้สามารถกำจัดได้เฉพาะกลุ่ม หนูพุก และหนูท้องขาว
เหยื่อโปรโตซัวกำจัดหนู
แนวความคิดการใช้ปรสิตหรือเชื้อโรคในการกำจัดหนูเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีนั้น มีมานานพอสมควร โดยวิธีดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการทำให้หนูป่วยและตาย เพื่อลดจำนวนหนู นอกจากนี้ยังมีการใช้ปรสิตหรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่มีผลต่อการขยายพันธุ์ของหนูด้วยเช่นกัน
เชื้อโปรโตซัว Sarcocystis singaporensis ค้นพบโดยศาสตราจารย์ Zamen และ Colley เมื่อปี 2518 และเริ่มวิจัยพัฒนามาเป็นโปรโตซัวที่ใช้สำหรับการเป็นเหยื่อกำจัดหนูเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อปี 2536 เป็นต้นมา สำหรับงานวิจัยในประเทศไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมวิชาการเกษตร และสำนักความร่วมมือทางวิชาการเกษตรของเยอรมัน หรือ GTZ ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาศักยภาพของโปรโตซัวชนิดดังกล่าว ในการกำจัดหนู โปรโตซัวชนิดนี้เป็นสัตว์เซลเดียวที่มีวงจรชีวิตระหว่างหนูกับงูเหลือมเท่านั้น ซึ่งคณะผู้วิจัยทำการขยายพันธุ์โปรโตซัวดังกล่าวแบบไม่มีเพศบริเวณเซลล์บุผิวภายในหลอดเลือดของหนู และให้เจริญเติบโตในหนู ซึ่งพัฒนาเป็นซีสต์อยู่ในกล้ามเนื้อลำตัวหนู เมื่องูเหลือมกินหนูติดเชื้อเข้าไป โปรโตซัวดังกล่าวจะเข้าไปขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศบริเวณผนังเซลล์ของลำไส้งูเหลือม และผลิตสปอร์โรซีสต์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการเจริญเติบโต ดังนั้นเมื่องูถ่ายมูลออกมาก็จะมีซีสต์ดังกล่าวปะปนออกมาด้วย จากนั้นนำโปรโตซัวในระยะสุดท้ายของการเจริญเติบโตที่ได้จากมูลงูไปทำเป็นเหยื่อสำเร็จรูปเพื่อใช้กำจัดหนู หากหนูกินเหยื่อดังกล่าวเข้าไป ประมาณ 10-15 วัน จะแสดงอาการป่วยและตายเนื่องจากน้ำท่วมปอดทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว หรือไตวายได้ ทั้งนี้ โดยปกติโปรโตซัวชนิดนี้พบการแพร่ระบาดทั่วไปในหนู และงูเหลือมแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปริมาณที่พบในธรรมชาติน้อยมาก จึงไม่เป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของมัน
หนูเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณเอาตัวรอดสูง มีความขี้ระแวงระวังภัยตลอดเวลา การกำจัดจำเป็นต้องใช้ที่สิ่งหนูรู้สึกคุ้ยเคย การศึกษาเราพบว่า ในธรรมชาติของตัวหนูเองมีโปรโตซัวอยู่ชนิดหนึ่ง เป็นโปรโตซัวที่มีพิษ แต่เนื่องจากมีปริมาณไม่มาก จึงไม่อันตรายต่อตัวหนู ที่สำคัญความเป็นพิษของโปรโตซัวชนิดนี้ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เราจึงสนใจที่จะนำจุลินทรีย์ชนิดนี้มาทำเป็นสารชีวภาพกำจัดหนู และด้วยจุลินทรีย์ชนิดนี้ไม่ได้มีเฉพาะในหนูเท่านั้น ยังมีอยู่ในงูทุกสายพันธุ์…จุดเริ่มต้นการหาสารกำจัดหนู จึงต้องศึกษาว่า งูและหนูชนิดไหนมีเชื้อโปรโตซัวชนิดนี้มากที่สุด พบว่า มูลงูเหลือมมีมากที่สุด แต่จะให้มีฤทธิ์ มีปริมาณมากพอจะกำจัดหนูได้ ต้องนำไปเพาะขยายจำนวนเชื้อให้มีปริมาณความเข้มข้นมากขึ้น
คุณดาราพร รินทะรักษ์ นักปศุสัตว์ชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร จึงนำเอามูลงูเหลือมไปหยอดให้หนูขาวพันธุ์วีสตร้า (เป็นพันธุ์ที่ใช้เพาะเชื้อโปรโตซัวได้ดีที่สุด) กินติดต่อกันทุกวันนาน 4-6 เดือน แต่กระนั้นเชื้อที่ได้ก็ยังมีปริมาณไม่เข้มข้นมากพอที่จะทำให้หนูตายได้…เลยต้องนำหนูวีสตร้าไปเลี้ยงเป็นอาหาร ให้งูเหลือมกินอีกที เพื่อเพาะขยายเชื้อให้มากขึ้นอีก
ด้วยธรรมชาติของงูเหลือม เมื่อได้กินอาหารอิ่มเต็มที่ จะนอนนิ่งๆ อยู่นาน 7-10 วัน รอให้อาหารย่อยและถ่ายมูลออกมา…นี่แหละคือ สาระสำคัญที่เฝ้ารอ แต่ต้องเป็นมูลที่ถ่ายออกมาครั้งที่ 2-4 ต่อรอบการกิน ถึงจะมีเชื้อโปรโตซัวมากที่สุด สามารถนำมาใช้เป็นสารชีวภาพกำจัดหนูได้ หากใช้มูลงูล้วนๆ หนูจะไม่สนใจกินอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงต้องใช้ส่วนผสมอย่างอื่นมาเป็นตัวล่อ แป้งข้าวเจ้า ข้าวโพด วิตามินกันหืน แต่งกลิ่นด้วยน้ำมันมะพร้าว ปั้นเป็นก้อนขนาด 1.20 กรัม เสร็จแล้วนำโปรโตซัวในมูลงูเหลือมมาใส่เป็นไส้ใน เพียงแค่นี้ก็พร้อมสำหรับเป็นเหยื่อกำจัดหนู
หลังจากหนูกินเข้าไปโปรโตซัวจะทำให้หนูตายภายใน 5-10 วัน และเมื่อนำไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในสวนปาล์มภาคใต้ นาข้าว จ.ลพบุรี และฟาร์มเลี้ยงไก่ จ.สิงห์บุรี ในอัตรา 20–25 ก้อน/ไร่ เพียงแค่ 7 วัน การระบาดของหนูลดลงและหายไป และไม่เพียงจะใช้กำจัดหนูในสวนเกษตรเท่านั้น ยังสามารถนำมาใช้กำจัดหนูในบ้านได้ด้วย
ผลที่ได้จากการทดลองใช้เหยื่อโปรโตซัวการผลิตสปอร์โรซีสต์ชนิดนี้ให้ได้จำนวนมากนั้น ต้องมีการเลี้ยงงูเหลือมและหนูติดเชื้อภายในโรงเรือน จากการศึกษาของคณะวิจัยพบว่า งูเหลือมขนาดลำตัวยาวประมาณ 2.5 เมตร สามารถผลิตสปอร์โรซีสต์ได้ไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านซีสต์ ซึ่งจำนวนดังกล่าวสามารถกำจัดหนูได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัว หรือใช้ปราบหนูในนาข้าวได้ประมาณ 300 ไร่ นับว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ข้อดีของเหยื่อโปรโตซัวที่สำคัญ คือ มีความเฉพาะเจาะจงต่อหนูพุกและหนูท้องขาว ปลอดภัยต่อสัตว์ที่กินหนูเป็นอาหาร และปลอดภัยต่อสัตว์เลี้ยง รวมทั้งปลอดภัยต่อมนุษย์ หนูไม่เข็ดขยาดต่อเหยื่อ เนื่องจากหนูจะตายเมื่อรับเชื้อไปแล้วประมาณ 10-15 วันดังกล่าวข้างต้น และไม่เกิดพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมอ้างอิง : http://www.cpiagrotech.com/category/knowledge/