โบรอน (boron) เป็นธาตุในตารางธาตุที่มีสัญลักษณ์ B โบรอนปรากฏมากในแร่บอแรกซ์

โบรอนคืออะไร

โบรอนในภาษาอารบิก เรียก Buraq หมายถึงสีขาว และภาษาเปอร์เซีย เรียกว่า Burah พบบันทึกว่ามีการนำโบรอนมาใช้ประโยชน์ ทั้งชาวบาบิโลนชาวอาหรับ และชาวจีน ในจีนนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 300 โดยใช้ประโยชน์เป็นน้ำยาเคลือบเงา จากนั้น ค.ศ. 700 มีการขนส่งโบรอนไปสู่เปอร์เซีย และ Jābir ibn Hayyān นักเคมีชาวเปอร์เซีย ก็ทำให้โบรอนได้เป็นที่รู้จักในแถบนั้น ต่อมา Marco Polo ได้ซื้อน้ำยาเคลือบเงาจากโบรอนนี้กลับไปที่อิตาลี ซึ่งต่อมา ในปี ค.ศ. 1808 Joseph Louis Gay-Lussac และ Louis Jacques Thénard นักเคมีวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้ทำการสกัดโบรอนออกมาจากกรดบอริก โดยทำปฏิกิริยากับแมกนีเซียมหรือโซเดียม เวลาต่อมา Sir Humphry Davy นักเคมีชาวอังกฤษ พยายามแยกธาตุโบรอน โดยวิธี electrolysis แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเขาก็สามารถแยกโบรอนได้โดยการนำกรดบอริกไปทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนในอากาศ และตั้งชื่อสารที่ได้ว่า boracium แต่มีความบริสุทธิ์เพียง 60% จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1909 Ezekiel Weintraub นักเคมีชาวอเมริกัน สามารถผลิตโบรอนที่บริสุทธิ์ได้ถึง 99%
ธาตุโบรอน สามารถอยู่ในรูปของสารประกอบได้หลายชนิด เช่น

● Sodium borate pentahydrate (Na2B4O7·5H2O) ใช้ในการผลิตฉนวนกันความร้อนใยแก้ว
● กรดบอริค (boric acid, H3BO3) ใช้ในการผลิตสิ่งทอไฟเบอร์กลาส และใช้เป็นฉนวนเซลลูโลสกันไฟ
● Sodium borate decahydrate (Na2B4O7·10H2O) หรือบอแรกซ์ ใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อที่ไม่รุนแรง

โบรอนที่ใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืช มีได้หลายรูปแบบ เช่น กรดบอริก, Sodium borate หรือ Sodium calcium borate โบรอนเคลื่อนที่ในพืชผ่านทางท่อน้ำ (xylem) การเคลื่อนย้ายธาตุโบรอนจึงเป็นไปตามอัตราการคายน้ำของใบ


ความสำคัญของโบรอน
โบรอนถือเป็นจุลธาตุ ที่มีความจำเป็นสำหรับปาล์มน้ำมันเป็นอย่างมาก โบรอนนั้นเกี่ยวกับกับแทบทุกส่วนในต้นปาล์มน้ำมัน เช่น ช่วยในการสร้างท่อละอองเกสร การติดผลผลิต ช่วยให้รากดูดซึมธาตุอาหารได้อย่างปกติ ช่วยในการแบ่งเซลล์และการพัฒนาของเซลล์ใหม่ การทำงานของราก เป็นต้น



อาการขาดธาตุโบรอน
1. มีอาการทางใบ ยอดใบของปาล์มน้ำมันไม่ค่อยเจริญเติบโต ใบอ่อนไม่พัฒนา คลี่ออกน้อย หรือคลี่ออก ปลายใบจะแสดงอาการหักเป็นรูปตะขอและย่นหรือหงิก
ในกรณีที่ขาดโบรอนมากๆ ใบมีรูปร่างจะผิดปกติ ย่นหยิก ใบมีขนาดเล็ก ส่งผลให้ปาล์มน้ำมันขาดประสิทธิภาพในกระบวนการสังเคราะห์แสง จึงมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นปาล์มน้ำมันและให้ผลผลิตลดลง

2. ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง ผลปาล์มผสมติดได้น้อย น้ำหนักทะลายสดและปริมาณน้ำมันต่อทะลายลดลง เนื่องจากโบรอนมีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาและสร้างเซลล์ใหม่ ดังนั้น จึงส่งผลต่อการผสมเกสรและการเจริญยืดตัวของท่อละอองเกสร โดยเฉพาะในช่วงที่ปาล์มน้ำมันกำลังมีการแบ่งเซลล์หรือกำลังเจริญเติบโต หากท่อละอองเกสรขาดโบรอน จะทำให้ท่อเจริญเติบโตผิดปกติ พองปริแตก ไม่ยืดตัว ส่งผลให้มีการสูญเสียน้ำตาลได้

3. การดูดซึมธาตุอาหารของรากผิดปกติ รากไม่งอกหรือยืดออกได้น้อย เนื่องจากธาตุโบรอนนั้นเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของ "เซลล์เมมเบรน" บริเวณผิวของรากต้นปาล์มน้ำมัน โดยมีหน้าที่ช่วยการดูดซึมของไอออนธาตุอาหารต่างๆ เป็นไปได้อย่างปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าปาล์มที่ได้รับโบรอนอย่างเพียงพอจะช่วยทำให้การดูดซึมฟอสฟอรัสของรากเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อัตราการใส่โบรอนในปาล์มน้ำมัน
ต้นปาล์มน้ำมันนั้นต้องการโบรอนชัดเจน จึงควรใส่โบรอนทุกปี โดยเฉพาะเมื่อใบแสดงอาการขาดธาตุดังกล่าว โดยค่ามาตรฐานในการใส่โบรอนแก่ต้นปาล์มน้ำมัน คือ ปริมาณ 50-100 กรัม/ต้น/ปี หรือเพิ่มเป็น 100-200 กรัม/ต้น/ปี ในกรณีที่ต้นปาล์มน้ำมันแสดงอาการขาดโบรอนอย่างรุนแรง (ควรมีการวิเคราะห์ใบเพื่อตรวจสอบปริมาณโบรอนในพืชว่าพอเพียงหรือไม่)

วิธีการใส่โบรอน
วิธีการใส่โบรอนนั้น ให้ใส่ในรูปของปุ๋ยทางดิน และสามารถใส่ร่วมกับปุ๋ยสำหรับปาล์มน้ำมันอื่นๆ (ชื่อทางการค้าของปุ๋ยโบรอน ที่มี 15%B เช่น Fertibor, Quibor, Actibor) แนะนำให้มีการสร้างกองทางใบและการสาดโบรอนร่วมกับปุ๋ยบนกองทางใบเพื่อให้อินทรียวัตถุที่ได้จากการย่อยสลายของกองทางใบนั้น ได้ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยตรึงปุ๋ยไม่ให้ถูกน้ำหรือฝนชะล้าง และยังช่วยรักษากิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินเพื่อช่วยย่อยสลายธาตุอาหารให้อยู่ในรูปที่ต้นปาล์มน้ำมันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้


อ้างอิง : http://www.cpiagrotech.com/category/knowledge/