ยาฆ่าหญ้าคืออะไร?
ยาฆ่าหญ้า หรือ สารกำจัดวัชพืช (Herbicide หรือ Weedicide) จัดเป็นสารที่ใช้เพื่อควบคุมวัชพืชไม่ให้รบกวนการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกไว้

 


ประเภทของยาฆ่าหญ้า
ยาฆ่าหญ้า แบบจำแนกตามช่วงเวลาการใช้ ดังนี้
1. สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนปลูก
จัดเป็นสารเคมีที่ใช้พ่นก่อนการตรียมดิน เพื่อฆ่าวัชพืชที่ขึ้นอยู่ก่อน แล้วจึงไถเตรียมดิน หรือใช้พ่นฆ่าวัชพืชแทนการเตรียมดินแล้วปลูกพืชเลย สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ ได้แก่ ไกลโฟเซท (Glyphosate), พาราควอท หรือที่รู้จักกันดีในนาม กรัมม๊อกโซน (Gramoxone)
สรรพคุณ : เป็นยาดูดซึมเพื่อใช้ป้องกันการขึ้นของหญ้า
อาการข้างเคียงหรืออาการที่ไม่พึงประสงค์ : ยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ (Cellular Respiration) ในเซลล์พืชและสัตว์ที่มีชื่อว่าไมโทคอนเดรีย (Mitochondria)

2. สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก ส่วนใหญ่เกษตรกรเรียกว่ายาคุมหญ้า
เป็นสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นหลังปลูกพืช และก่อนที่วัชพืชจะงอกในช่วงเวลาประมาณไม่เกิน 10 วัน 
เป็นการฉีดพ่นลงไปในผิวดินโดยตรง สารเคมีพวกนี้จะเข้าไปทำลายวัชพืชทางส่วนของเมล็ด ราก และยอดอ่อนใต้ดิน โดยต้องฉีดพ่นในสภาพที่ดินมีความชื้นเหมาะสม สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ บิวทาคลอร์, เพรททิลาคลอร์, อ๊อกซาไดอะซอน
สรรพคุณ : ใช้กำจัดวัชพืชประเภทใบแคบและใบกว้าง
อาการข้างเคียงหรืออาการที่ไม่พึงประสงค์ :  คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศรีษะ เป็นลม และลมหายใจอ่อน

3. สารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอก ส่วนใหญ่เกษตรกรเรียกว่า ยาฆ่าหญ้า
เป็นสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นหลังจากวัชพืชงอกขึ้นมาแล้วในช่วงเวลาเกินกว่า 10 วันขึ้นไป 
โดยพยายามฉีดพ่นให้สัมผัสส่วนของวัชพืชให้มากที่สุด สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ กลุ่มยา 2,4-ดีโซเดียมซอลท์ หรือที่รู้กันในชื่อ ยาช้างแดง, ยาโปรปานิล ฟิโนซาพรอบ-พี-เอทิล

สรรพคุณ : ใช้ฆ่าหญ้าเพื่อไม่ให้หญ้างอกเร็วเกินไป

อาการข้างเคียงหรืออาการที่ไม่พึงประสงค์ : เมื่อสารเคมีเหล่านี้ สัมผัสถูกบาดแผลจะทำลายชั้นเนื้อเยื่อแบบต่อเนื่องไม่หยุด และมีอาการปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก
อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ลมหายใจมีกลิ่น ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร ตาพร่ามัว พูดไม่ชัดกล้ามเนื้อกระตุก กั้นปัสสาวะไม่อยู่ ชักหมดสติ และเสียชีวิตในที่สุดเนื่องจากหัวใจและระบบโลหิตล้มเหลว ดังนั้นเกษตรกรจึงควรตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ยาฆ่ายาทุกชนิดและใช้อย่างระมัดระวัง ใช้อย่างถูกวิธี


ยาฆ่าหญ้าแบบจำแนกตามลักษณะการทำลาย

1. สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดดูดซึม
• กลุ่มไกลโฟเซต  เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชทำลายได้ทั้งชนิดใบกว้างและใบแคบ แต่กำจัดได้ดีที่สุดกับชนิดใบแคบ ใช้กำจัดวัชพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดิน เช่น หญ้าคา แห้วหมู ไมยราบยักษ์ ใช้ฉีดพ่นทางใบแล้ววัชพืชจะดูดซึมเข้าไปทำลายส่วนต่างๆ อย่างช้าๆ และเห็นผลในสัปดาห์ที่ 3  หากต้องการให้ได้ผลดีต้องฉีดพ่นวัชพืชที่มีใบ 4-8 ใบ หรือต้นที่แก่เต็มที่ หากฉีดพ่นวัชพืชที่มีอายุน้อยมักจะไม่ได้ผล ไกลโฟเสทมีผลตกค้างในดินน้อยมาก เนื่องจากถูกจุลินทรีย์ในดินเป็นตัวย่อยสลาย (ปัจจุบันสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ หรือ EPA ออกคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้ยากำจัดวัชพืชชนิดนี้เป็นเวลา 12 ชั่วโมงภายหลังการฉีดพ่น  และในบางประเทศ เช่น โปรตุเกส อิตาลี และนครแวนคูเวอร์ของแคนาดา ได้ออกกฎห้ามใช้สารไกลโฟเซตในพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ ขณะที่ทางการศรีลังกาห้ามใช้ไกลโฟเซตเมื่อปี 2015)
• กลุ่ม 2,4-ดีโซเดียมซอลท์ เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเลือกทำลาย ใช้ฉีดพ่นทางใบจะเลือกทำลายเฉพาะวัชพืช ใบกว้าง และกก ผักตบชวา ขาเขียด เทียนนา กกขนาก กกทราย หนวดปลาดุก การฉีดพ่นที่ได้ผลดีไม่ควรมีฝนตกนาน 4-6 ชั่วโมง กลุ่ม 2, 4-ดีโซเดียมซอลท์ สลายตัวในดินภายใน 1-4 สัปดาห์
2. สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดเผาไหม้ หรือชนิดสัมผัสตาย
• กลุ่มพาราควอต จัดอยู่ในชนิดเผาไหม้หรือสัมผัสตาย เกษตรกรไทยนิยมใช้ในพืชไร่ เป็นยาเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็วมาก ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง โดยไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากของพืชประธาน ใช้ในไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา  ไม่ว่าจะเป็นพืชใบกว้างหรือใบแคบก็ตาม เป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ทำลายได้เร็วมาก ดังนั้น ขณะที่ฉีดพ่นควรระวังอย่าให้ละอองสารเคมีไปสัมผัสกับต้นพืชที่ปลูก สารเคมีกำจัดวัชพืชกลุ่มนี้จะสลายตัวได้ 25-50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถูกแสงแดดจ้าภายในเวลา 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ เมื่อฉีดพ่นลงดินจะถูกอนุภาคของดินจับสารเคมีพาราควอตได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงไม่สามารถทำลายวัชพืชได้เลย (ปัจจุบันมีการห้ามใช้พาราควอต อย่างน้อย 53 ประเทศทั่วโลกที่ ซึ่งรวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป ที่ยกเลิกเมื่อปี 2007)

ยาฆ่าหญ้าเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
  • การเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง มีการศึกษาพบว่าร้อยละ 90 ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าหญ้า จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง
  • การเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ เกษตรกรที่ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าหญ้า และผู้คนที่อยู่ใกล้ชิดในขณะฉีดพ่นจะได้รับสารพิษของยา ผ่านเข้าร่างกายโดยการหายใจ
  • การเข้าสู่ร่างกายโดยการกินหรือกลืน เช่น เมื่อรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าไป
ยาฆ่าหญ้ากับผลกระทบต่อสุขภาพ
1. พิษที่เกิดแบบเฉียบพลัน เกิดขึ้นเมื่อได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าหญ้าในแบบทันทีทันใด เช่น ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ เหงื่อออกมาก ท้องร่วง เป็นตะคริว หายใจติดขัดมอง ไม่ชัด และอาการรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิต
2. ผลกระทบที่รุนแรงเฉพาะส่วน คือ ผลกระทบที่มีผลเพียงบางส่วนต่อร่างกายซึ่งเป็นส่วนที่สัมผัสกับยาฆ่าหญ้าโดยตรง
เช่น ระคายเคืองต่อผิวหนัง เกิดอาการแพ้ ผิวหนังแห้งไหม้ เกิดรอยแดง ระคายเคืองต่อระบบหายใจ มีอาการจามหรือไอ น้ำตาไหล เล็บมือเล็บเท้าเปลี่ยนสีกลายเป็นสีฟ้าและกลายเป็นสีดำ ในรายที่เป็นมากเล็บจะหลุดร่อน
3. พิษที่เกิดแบบเรื้อรัง เกิดขึ้นเมื่อได้รับพิษของยาฆ่าหญ้าเข้าไปแล้ว แต่แสดงผลช้า โดยแสดงอาการในภายหลังได้รับพิษ อาจกินเวลาเป็นเดือนหรือปี จึงแสดงอาการออกมา เช่น เป็นหมัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง พาร์กินสัน เป็นต้น

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษยา

  • นำผู้ที่ได้รับพิษ นอนในร่มให้อยู่ห่างจากแปลงพ่นยา ถอดเสื้อผ้าชุดพ่นยาออก และทำความสะอาดร่างกาย ส่วนที่ถูกยาด้วยสบู่หรือน้ำสะอาด
  • นำผู้ที่ได้รับพิษ ส่งแพทย์โดยด่วน
  • หากหัวใจเต้นอ่อน หรือหยุดเต้น จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจให้ทำงาน ให้ทำการผายปอด หรือเป่าลมเข้าปาก
  • หากได้รับพิษยาทางปาก ทำให้อาเจียนด้วยน้ำเกลือ (เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 1 แก้ว) หรือล้วงคอด้วยนิ้วมือที่สะอาด
  • หากยาเข้าตา ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที
  • บอกชื่อของสารออกฤทธิ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับยาปราบศัตรูพืช แก่แพทย์ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หรือนำสลากยาติดตัวไปด้วยเมื่อพบแพทย์

อาโทรปินซัลเฟต เป็นยาช่วยแก้พิษของยาประเภทสารประกอบฟอสเฟตและคาบาเมต ส่วนฟิโนบาร์มิตอล แคลเซียมกลูโคเนต และอีฟีเนฟฟรีน เป็นยาแก้พิษจากสารพวกคลอริเนตเตด ไฮโดรคาร์บอน ในกรณีของยาประเภทสารประกอบคลอรีน ห้ามใช้มอร์ฟีน หรือธีโอฟิลลีน

หลักการใช้ยาฆ่าหญ้าอย่างถูกวิธี
เมื่อได้ทราบถึงพิษภัยที่อาจเกิดขึ้นหลังจากใช้ยาฆ่าหญ้าแล้ว เกษตรกรจึงควรทำความเข้าใจ และระวังในการใช้ ดังนี้
1. เลือกใช้ยาฆ่าหญ้าอย่างถูกวิธี
– เลือกสารกำจัดวัชพืช ให้เหมาะสมกับชนิดของศัตรูพืชนั้นๆ
– เลือกสารกำจัดวัชพืช ชนิดที่มีฤทธิ์ตกค้างสั้น และสลายตัวเร็ว
– ไม่เลือกซื้อสารกำจัดวัชพืช ที่มีพิษรุนแรง
2. ใช้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าหญ้า เท่าทีจำเป็น และใช้เพียงชนิดเดียวในการฉีดพ่นแต่ละครั้ง
3. อ่านรายละเอียดบนฉลากอย่างละเอียด และปฎิบัติตามข้อแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด รวมทั้งทำความเข้าใจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นๆ และมั่นหาข้อมูลเพิ่มเติม
4. ผสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าหญ้า ตามขนาดที่กำหนดไว้บนฉลาก ไม่ผสมเจือจางหรือเข้มข้นเกินไป
5. ใช้อุปกรณ์ คนหรือผสม ยาฆ่าหญ้า (ห้ามใช้มือ หรืออวัยวะสัมผัสโดยตรง)
6. ผู้ที่ฉีดพ่น หรือผู้เกี่ยวข้องในขณะฉีดพ่น ต้อง สวมหน้ากาก ถุงมือ ชุดป้องกัน หรือเสื้อผ้าหนาๆที่มิดชิด
7. ยืนอยู่ในตำแหน่งเหนือลม ขณะที่ฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า
8. ฉีดพ่นยากำจัดวัชพืชให้ห่างจาก ต้นปาล์ม ห้ามให้ละอองของยาโดนใบปาล์ม หรือต้นปาล์มโดยตรง
9. ห้ามเป่าหรือดูดหัวฉีด ท่อลมที่อุดตันด้วยปาก
10. ไม่สูบบุหรี ดื่มน้ำ หรือทานอาหาร ในขณะที่ฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า
11. ควรใช้ในปริมาณที่พอดี และฉีดพ่นให้หมดในแต่ละครั้ง
12. ระมัดระวังการปลิวของน้ำยา อย่าพ่นยา ในขณะที่ลมมีความเร็วมาก (เกินกว่า 5 เมตร/วินาที หรือ 18 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
13. ห้ามไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปในแหล่งพ่นยา หลังการฉีดยาใหม่ๆ
14. เทยาส่วนที่เหลือใช้เก็บเข้าที่ ถ้าทิ้งไว้กลางแดดนานๆ ยาจะสลายตัว ทำให้หมดประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืช
15. ชำระร่างกายให้สะอาด ทันทีหลังฉีดพ่นเสร็จ
16. หลังการพ่นยาเสร็จแต่ละครั้ง ถอดเสื้อผ้าที่ใช้ออก แล้วซักให้สะอาด
17. ไม่ทิ้งยาที่ผสมใช้แล้วไว้ในถังพ่นยา ตัวยาอาจจะกัดโลหะ หรือพลาสติกของถังพ่นยาได้ ตัวทำลายของยาอาจระเหย ส่วนที่เหลือจับตัวกัน ทำให้เหนียว ล้างออกยาก และอาจจะไปอุดตันที่กรองและหัวฉีด
18. เมื่อแมลง หรือศัตรูพืช ดื้อยา ควรเปลี่ยนไปใช้สารเคมีชนิดอื่น
19. เว้นระยะในการเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังการฉีดพ่น ตามที่ระบุไว้บนฉลากอย่างเคร่งครัด
20. เก็บยาฆ่าหญ้า ในที่มิดชิด เก็บให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง เก็บให้ห่างจากที่เก็บอาหารหรือที่ประกอบอาหาร

การกำจัดภาชนะบรรจุยาฆ่าหญ้า
  • เลือกสถานที่ที่จะขุดหลุมฝังภาชนะบรรจุสารที่ใช้หมดแล้วให้ห่างจาก แหล่งน้ำ และที่พัก อย่างน้อย 50 เมตร ให้เลือกสถานที่ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ โดยขุดหลุมให้ลึกลงไปอย่างน้อย 1 เมตร โดยโรยปูนขาวรองก้นหลุม"
  • ทำลายภาชนะบรรจุ โดยการตัดหรือทุบทำลาย ให้อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก ภาชนะบรรจุยาที่ทำด้วยโลหะหรือแก้ว
  • ควรจะล้างให้สะอาดหรือทุบให้แตก แล้วฝังกลบให้มิดชิด ส่วนภาชนะที่เป็นพลาสติกควรเผา และอย่าให้ควันไฟรมตัวเรา
  • ห้ามนำภาชนะที่ใช้แล้ว นำกลับมาใช้ใหม่
  • ห้ามเผา บรรจุภัณฑ์ชนิดที่มีความดันภายใน เพราะจะทำให้เกิดการระเบิดได้
  • เมื่อมีการเปรอะเปื้อน ให้ใช้ ดิน ขี้เลื่อย หรือปูนขาว นำมาดูดซับ แล้วจึงนำไปฝัง
  • ติดป้ายและล้อมรั้ว บริเวณที่ได้มีการฝังกลบบรรจุภัณฑ์ยาฆ่าหญ้าที่ใช้แล้ว

 
ขอบคุณภาพจาก : thejournal.ie  และ nebraskafarmer.com


อ้างอิง : http://www.cpiagrotech.com/category/knowledge/