ปุ๋ยปาล์มที่ดี ควรเป็นอย่างไร?
ปุ๋ยปาล์มที่ดี ที่จะทำให้ต้นปาล์มน้ำมันมีผลผลิตสูงได้ ปุ๋ยปาล์มที่ดีต้องคำนึงถึงหลักการพื้นฐานของปาล์ม เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ผลิตน้ำมัน (lipid) ได้ในปริมาณสูงกว่าพืชชนิดอื่น และเพราะพืชนั้นต้องใช้พลังงานและธาตุอาหารในการสร้างไขมัน ในปริมาณสูงกว่าการสร้างน้ำตาลและโปรตีน ดังนั้นต้นปาล์มน้ำมันจึงต้องการปุ๋ยในปริมาณมาก หากอาศัยแต่ธาตุอาหารที่อยู่ในดินอาจไม่เพียงพอสำหรับการให้ได้ผลผลิตปาล์มในปริมาณสูง

ปุ๋ยสำหรับปาล์มน้ำมันที่ดี ต้องประกอบด้วยหลัก 3 ประการ คือ
1. ตรงตามความต้องการของต้นปาล์ม การศึกษาความต้องการธาตุอาหารของต้นปาล์มน้ำมัน ทำโดยการศึกษามวลชีวภาพและวิเคราะห์ความเข้มข้นของธาตุอาหารในส่วนต่างๆ ของต้น ได้แก่ ส่วนที่ไม่ถูกเคลื่อนย้ายออกจากแปลง เช่น ราก ลำต้น ทางใบ ช่อดอกเพศผู้ และส่วนที่นำออกจากแปลง คือ ผลผลิตทะลายปาล์ม ปริมาณธาตุอาหารที่ต้นปาล์มต้องการคือ ปริมาณธาตุอาหารที่ปรากฏในชิ้นส่วนต่างๆ ของต้นปาล์ม คำนวณจากผลคูณของมวลแห้งกับความเข้มข้นของธาตุอาหารแต่ละชนิด
2. ครบตามชนิดของธาตุอาหารที่จำเป็น พืชทุกชนิดต้องการธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเติบโตทั้งหมด 16 ชนิด แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้จากอากาศและน้ำ คือ C, H, O ส่วนอีก 13 ชนิด ได้มาจากปุ๋ย แบ่งเป็นธาตุอาหารหลัก 6 ชนิด คือ N, P, K, S, Ca, Mg และจุลธาตุ 7 ชนิด คือ B, Cu, Zn, Mo, Cl, Fe และ Mn ต้นปาล์ม ต้องการจุลธาตุ B, Cu และ Zn อย่างชัดเจนต่อเนื่องมากกว่าจุลธาตุชนิดอื่น
3. ครบตามจำนวนสำหรับชดเชยผลผลิต ปริมาณของธาตุอาหาร สำหรับต้นปาล์มน้ำมันแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ใช้สำหรับเลี้ยงต้นส่วนที่เจริญอยู่ในแปลง ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อปีเฉลี่ยคงที่ ส่วนที่สอง ใช้สำหรับเลี้ยงผลผลิตทะลายปาล์มที่นำออกจากแปลง ซึ่งเพิ่มขึ้นตามระดับของผลผลิต ต้นปาล์มที่อายุเท่ากัน อาจจะมีผลผลิตได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ การจัดการ และสภาพแวดล้อม การใส่ปุ๋ยตามระดับผลผลิตจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูงและลดต้นทุนค่าปุ๋ยลง


ใส่ปุ๋ยอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูง
เมื่อได้ปุ๋ยที่ดีแล้ว วิธีการหรือเทคนิคในการใส่ปุ๋ยก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ต้นปาล์มน้ำมันได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยสูงสุด จึงมีแนวทางปฎิบัติดังนี้

สำหรับต้นปาล์มเล็ก อายุ 1 – 3 ปี
1. กำจัดวัชพืชรอบโคนต้นให้สะอาด
2. ใช้อินทรียวัตถุคลุมผิวดิน เช่น ทะลายเปล่า ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์
3. ถ้าตรวจวัดแล้วพบว่าดินเป็นกรด ให้ปรับค่ากรด-ด่างของดิน (pH) โดยการใส่ปูนโดโลไมท์ รอบทรงพุ่ม ปริมาณ 1 กิโลกรัม/ต้น/ปี
4. หว่านปุ๋ยรอบทรงพุ่ม ตามแนวทรงกลมของปลายใบ

ปาล์มใหญ่ ที่เริ่มตัดเก็บทะลาย
1. กำจัดวัชพืชรอบโคนต้นให้สะอาด เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บลูกร่วง
2. ใช้อินทรียวัตถุคลุมผิวดิน เช่น ทะลายเปล่า ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และให้เริ่มวางทางใบที่ตัดลงมาจากต้นไว้ระหว่างแถว
3. ถ้าตรวจวัดแล้วพบว่าถ้าดินเป็นกรด ให้ปรับค่ากรด-ด่างของดิน (pH) โดยการใส่ปูนโดโลไมท์ บริเวณกองทาง ปริมาณ 2-3 กิโลกรัม/ต้น/ปี
4. หว่านปุ๋ยบริเวณกองทาง ที่กองไว้ระหว่างต้นของต้นปาล์ม เพราะเป็นบริเวณที่รากอยู่มาก เนื่องจากมีความชื้นสูงและมีอินทรียวัตถุให้ปุ๋ยยึดเกาะ ช่วยลดการชะล้างของปุ๋ย

ต้องใส่ปุ๋ยในปริมาณเท่าใด?

สูตรปุ๋ยปาล์มเล็ก 23-6-15
+
2MgO + 0.32B + 0.11Cu + 0.23Zn
สูตรบำรุงต้น เร่งการเจริญเติบโต: เหมาะสำหรับต้นปาล์มอายุ 1-3 ปี หลังปลูก สูตรนี้จะมีธาตุอาหารที่จำเป็นครบและเพียงพอ ช่วยบำรุงให้ต้นปาล์มสมบูรณ์ โคนต้นใหญ่ ใบเขียวเข้ม สามารถสังเคราะห์แสงได้ดี

อายุต้นปาล์ม (ปี)

ปริมาณการใส่ปุ๋ย (กิโลกรัม/ต้น/ปี)

1 2.5
2 3
3 3.5

สูตรปุ๋ยปาล์มใหญ่ 12-5-20
+
3.17MgO + 0.38B + 0.1Cu + 0.2Zn
สูตรบำรุงต้น เร่งผลผลิต: เหมาะสำหรับต้นปาล์มที่เริ่มให้ผลผลิต เป็นสูตรที่มีธาตุอาหารครบ ช่วยบำรุงต้นปาล์มให้สมบูรณ์ จึงช่วยเร่งให้ปาล์มมีผลผลิตเร็ว

ปริมาณผลผลิตทะลายปาล์มที่เก็บเกี่ยวได้ (ตัน/ไร่/ปี) ปริมาณแนะนำในการใส่ปุ๋ย (กิโลกรัม/ต้น/ปี)
2 9
2.5 9.5
3 10
3.5 10.5
4 11
4.5 11.5
5 12
5.5 12.5
6 13
6.5 13.5
7 14

สูตรปุ๋ยปาล์มใหญ่ 15-5-25
+
2.01MgO + 0.34B + 0.1Cu + 0.2Zn
สูตรเพิ่มผลผลิต: เหมาะสำหรับต้นปาล์มที่เริ่มให้ผลผลิต ซึ่งจะมีธาตุอาหารครบ ช่วยเพิ่มน้ำหนักทะลาย ผลปาล์มเต่ง ไม่ฝ่อไม่ลีบ และให้ผลผลิตต่อเนื่อง

ปริมาณผลผลิตทะลายปาล์มที่เก็บเกี่ยวได้ (ตัน/ไร่/ปี) ปริมาณแนะนำในการใส่ปุ๋ย (กิโลกรัม/ต้น/ปี)
2 6.5
2.5 7
3 7.5
3.5 8
4 8.5
4.5 9
5 9.5
5.5 10
6 10.5
6.5 11
7 12


อ้างอิง : http://www.cpiagrotech.com/category/knowledge/