ศัตรูปาล์มน้ำมัน

ศูนย์วิจัยพัฒนาปาล์มน้ำมันซีพีไอ ได้รวบรวมและวิเคราะห์ ปัญหา
โรคและศัตรูพืชในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อให้สามารถวิเคราห์และทราบถึงการป้องกัน ลดจำนวนศัตรูพืชลง เป็นการช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยศัตรูปาล์มน้ำมัน เบื้องต้นมีดังนี้

หนู

1หนูป่ามาเลย์


หนูป่ามาเลย์ เป็นหนึ่งใน ศัตรูปาล์มน้ำมัน ที่สำคัญ พบมากในสวนป่าละเมาะ ดงหญ้าที่เกิดภายหลังการเปิดป่าใหม่
ป่าโกงกาง พบเฉพาะในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปโดยเฉพาะในสวนปาล์มน้ำมันทางภาคใต้ของประเทศไทยแม้ว่าหนูชนิดนี้มีอุปนิสัยปีนป่ายต้นไม้คล่องแคล่วแต่เมื่อใช้กรงดักวางบนพื้นดิน หนูชนิดนี้ก็ติดกรงดักได้ง่ายกว่าหนูนาใหญ่

ลักษณะหนูป่ามาเลย์
เป็นหนูขนาดกลาง ขนด้านหลังสีน้ำตาลเขียวมะกอก และจะเข้มขึ้นในบริเวณกลางหลัง
ขนเรียบนุ่มไม่มีขนแข็งปนขนด้านท้องขาวล้วนหรือขาวปนเทาจาง ขนาดความยาวหัวถึงลำตัว 100 – 180 มม. ความยาวหาง 125 – 198 มม. ความยาวตีนหลัง 28 – 32 มม. ความยาวหู 16 – 22 มม. น้ำหนักตัว 55 – 152 กรัม นมที่บริเวณคอถึงขาหน้า 2 คู่ บางตัวมีเต้านมคู่ที่ 3 อยู่ชิดคู่ที่ 2 หรือห่างกันไม่เกิน 10 มม. จากคู่ที่ 2 และบางครั้งมีเต้านมคู่ที่ 3 ข้างเดียว และที่บริเวณขาหลัง 3 คู่ หนูป่ามาเลย์เพศเมียสามารถผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 84 วัน เพศผู้เมื่ออายุ 163 วัน ระยะตั้งท้องนาน 21 – 22 วัน จำนวนลูกต่อครอก 5 ตัว วงรอบเป็นสัดทุก ๆ 5 – 8 วัน ในสวนปาล์มน้ำมันประเทศมาเลเซีย เพศเมียสามารถให้ลูกต่อครอก 4 – 10 ตัว อายุขัยในสภาพ สวนปาล์มน้ำมัน 7 – 8 เดือน ระยะหากินของเพศผู้โดยเฉลี่ย 30 เมตรเพศเมีย ประมาณ 25 เมตร

ลักษณะการทำลาย
หนูป่ามาเลย์ชอบกินดอกตัวเมียและดอกตัวผู้ ตลอดจนลูกปาล์มน้ำมันทั้งดิบและสุก เมื่อหนูป่ามาเลย์กินลูกปาล์มน้ำมันที่ร่วงบนพื้นดิน มันจะขนลูกปาล์มน้ำมันไปกินใต้กองทางใบ หนูป่ามาเลย์จะเริ่มเข้าทำลายปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่ปาล์มปลูกใหม่จนถึงต้นปาล์มสิ้นอายุการให้ผลผลิต และจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จึงเป็นศัตรูปาล์มน้ำมันที่สำคัญที่สุด

2หนูพุกใหญ่หรือหนูแผง
พบทั่วประเทศในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีดงหญ้าคา หญ้าขน เป็นศัตรูสำคัญในนาข้าว พืชไร่ และในสวนปาล์มน้ำมันที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี โดยเฉพาะบริเวณที่มีวัชพืชขึ้นในพื้นที่


ลักษณะหนูพุกใหญ่

เป็นหนูที่มีขนาดใหญ่ คือ ตัวเต็มวัยความยาวหัวและลำตัว 246 มม. ความยาวหาง 244 มม. ความยาวตีนหลัง 56 มม. ความยาวหู 30 มม. น้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 480 กรัม วัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 4 เดือนขึ้นไป เพศเมียมีวงรอบเป็นสัด 5 – 8 วัน ระยะตั้งท้อง 23 – 30 วัน ให้ลูกปีละ 2 ครอก ๆ ละ 5 – 8 ตัว

ลักษณะการทำลาย
กัดกินโคนต้นอ่อน ทางใบ และลูกปาล์มน้ำมันที่อยู่ใกล้กับพื้นดินเท่านั้น เนื่องจากเป็นหนูขนาดใหญ่ จึงไม่ชอบปีนป่ายต้นไม้

3 หนูบ้านท้องขาว
พบทั่วประเทศทั้งในนาข้าว พืชไร่ ไม้ผล บ้านเรือน สวนผลไม้ต่าง ๆ และสวนปาล์มน้ำมันตั้งแต่เริ่มปลูกใหม่ จนถึงต้นปาล์มสิ้นอายุการให้ผลผลิต

ลักษณะหนูบ้านท้องขาว
เป็นหนูขนาดกลาง น้ำหนักตัวประมาณ 140 – 250 กรัม ความยาวหัวถึงลำตัว 182 มม. ความยาวหาง 188 มม.
ความยาวตีนหลัง 33 มม. ความยาวหู 23 มม. นมที่ท้องบริเวณคอถึงขาหน้า 2 คู่ ที่บริเวณขาหลัง 3 คู่ ขนด้านหลังสีน้ำตาล ขนที่ท้องสีขาวนวล ตีนหลังสีขาว หน้าค่อนข้างแหลม หูใหญ่กว่าหนูชนิดอื่น เมื่อเทียบกับหน้า ผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 130 วัน ระยะตั้งท้องนาน 21 – 23 วัน จำนวนลูกต่อครอก 7.2 ตัว วงรอบเป็นสัดทุก ๆ 4 วัน ในสภาพมีอาหารสมบูรณ์ มีลูกได้ตลอดปี

ลักษณะการทำลายที่เกิดจากหนู
การทำลายที่เกิดจากหนูในปาล์มระยะปลูกใหม่ 
-โคนต้นปาล์มถูกกัดแทะ
การทำลายที่เกิดจากหนู ปาล์มระยะให้ผลผลิต
-ทะลายหนูถูกกัดกิน

ข้อพิจารณาในการป้องกันกำจัดหนู
เมื่อต้นปาล์มยังมีขนาดเล็ก (1 – 3 ปี) ถ้าพบความเสียหายแม้เพียงต้นเดียว ก็ควรดำเนินการป้องกันกำจัดทันที เมื่อต้นปาล์มให้ผลผลิตแล้วหมั่นสำรวจทะลายปาล์มถ้าพบรอยทำลายใหม่ในผลดิบบนต้น ซึ่งสังเกตจากรอยกัดผลปาล์มยังเขียวสดไม่แห้ง ตั้งแต่ 5% คือ ใน 100 ต้น พบรอยทำลายใหม่ 5 ต้นขึ้นไป ให้ทำการป้องกันกำจัดทันที


หนอน

1 หนอนหน้าแมว

ชื่ออื่น : หนอนดาน่า
ชื่อสามัญ : The Oil Palm Slug Caterpillar
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Darna furva Wileman
ชื่อวงศ์ : Limacodidae
ชื่ออันดับ Lepidoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ศัตรูปาล์มน้ำมัน ที่สำคัญมากอีกหนึ่งชนิด คือ “หนอนหน้าแมว” เป็นหนอนกัดทำลายใบปาล์มน้ำมัน ถ้าอาการรุนแรงมากใบถูกกัดจนเหลือแต่ก้านใบ จนต้นปาล์มโกร๋น ทำให้ผลผลิตลดลงต้นชะงักการเจริญเติบโต และกว่าต้นจะฟื้นคืนดังเดิมใช้เวลานานเป็นปี เมื่อเกิดมีการระบาดแต่ละครั้งมักต้องใช้เวลาในการกำจัดนานเป็นเพราะหนอนมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน เช่น มีทั้งระยะหนอน ระยะดักแด้ เราจึงไม่สามารถกำจัดให้หมดได้ในคราวเดียวกัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการกำจัดและต้องเฝ้าติดตามการระบาดอย่างต่อเนื่อง

ไข่
รูปไข่สีใส แบนราบติดใบผิวเป็นมัน คล้ายหยดน้ำค้าง ถ้าส่องกับแสงแดดจะทำให้เห็นไข่ชัดเจนขึ้น ผีเสื้อจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆกระจัดกระจายใต้ใบย่อยของทางใบปาล์มน้ำมัน มักจะพบไข่มากที่สุดบริเวณทางใบตอนล่างนับขึ้นมาจนถึงทางใบที่ 17 และพบบริเวณค่อนไปทางปลายใบเป็นส่วนใหญ่ขนาดประมาณ 1.1 x 1.3 มิลลิเมตร

ระยะหนอน
หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ ๆ มีขนาดลำตัว 0.2 x 0.8 มิลลิเมตร สีขาวใส มีสีน้ำตาลอยู่กลางลำตัว มีกลุ่มขนบนลำตัว 4 แถวเห็นไม่ชัดเจน ส่วนหัวหลบซ่อนอยู่ใต้ลำตัว เคลื่อนไหวช้า กินแบบแทะผิวใบ หนอนที่เจริญเต็มที่มีขนาดลำตัวกว้าง 5-6 มิลลิเมตร ยาว 15-17 มิลลิเมตร มีกลุ่มขนข้างลำตัวข้างละ 11 กลุ่ม สีของลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำแต้มสีเป็นรอยเว้ารูปสามเหลี่ยมจากด้านข้างเข้าหากึ่งกลางลำตัว ปลายยอดสามเหลี่ยมห่างกันเล็กน้อย ภายในสามเหลี่ยมสีตองอ่อนมีขอบเป็นสีเหลือง ส่วนท้ายลำตัวมีสีเหลือง กลางหลังของลำตัวมีเส้นประสีเหลืองและจุดสีดำขนานไปกับกลุ่มขนสีดำอีก2แถว

ระยะดักแด้
รังดักแด้สีน้ำตาล รูปทรงกลม ขนาดกว้าง 5 – 6 มิลลิเมตร ยาว 7 – 8 เมตร อยู่ตามซอกโคนทางใบซอกมุมของใบย่อยหรือตามใบพับของใบย่อย

ระยะตัวเต็มวัย
เป็นผีเสื้อกลางคืนนาดเล็ก เวลากลางวันผีเสื้อเกาะนิ่งหุบปีกไม่เคลื่อนไหว จะเคลื่อนไหวบินในช่วงพลบค่ำจนถึงรุ่งเช้า

2 หนอนร่านสี่เขา

หนอนร่านสี่เขา (หนอนซีโทร่า) เป็นหนอนที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับ หนอนหน้าแมว , หนอนร่านสีน้ำตาล
หนอนร่านสี่เขา-พบได้ทั่วไปใน สวนปาล์มน้ำมัน สวนมะพร้าว หากสัมผัสโดนผิวหนังจะมีอาการแสบ คัน บางรายอาจแพ้เป็นผดผื่น  หนอนร่านสี่เขามีชื่อที่เรียกแตกต่างไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น หนอนลั้น, หนอนบุ้ง, หนอนร่าน, แมงบ้งเป่ม, หนอนร่านไฟ เป็นต้น
ชื่ออื่น : หนอนซีโทร่า
ชื่อสามัญ : The Oil Palm Slug Caterpillar
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Setora Fletcheri Halloway
ชื่อวงศ์ : Limacodidae
ชื่ออันดับ : Lepidoptera

ลักษณะการทำลาย
หนอนร่านสี่เขา-เป็นหนอนกัดทำลายใบปาล์มน้ำมัน โดยในช่วงวัยแรกๆ จะแทะผิวใบ และเมื่อหนอนเจริญเติบโตขึ้น
จะกัดกินทั้งใบ หากอาการรุนแรงมากใบจะถูกกัดจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงต้นชะงักการเจริญเติบโต เมื่อเกิดมีการระบาดแต่ละครั้งมักต้องใช้เวลาในการกำจัดนานเป็นเพราะหนอนมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน เช่น มีทั้งระยะหนอน มีทั้งระยะดักแด้ เราจึงไม่สามารถกำจัดให้หมดได้ในคราวเดียวกัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการกำจัดและติดตามการระบาดที่ต่อเนื่อง
การระบาด
มักพบบนต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 1-3 ปี มักพบบ่อยตามปลายใบปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะทางใบที่อยู่ตำแหนงล่างๆ และเนื่องจากหนอนร่านสี่เขาสามารถถูกควบคุมจำนวนโดยแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนหนอน แตนเบียนดักแด้ เป็นต้น จึงยังไม่พบว่ามีการระบาดอย่างรุนแรง


3 หนอนร่านสีน้ำตาล

หนอนร่านสีน้ำตาล เป็นหนอนที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับ หนอนหน้าแมว , หนอนร่านสี่เขา
พบได้ในสวนปาล์มน้ำมัน สวนมะพร้าว มีความสามารถในการทำลายต้นปาล์มน้ำมันเหมือนหนอนหน้าแมว มีรายงานว่าเคยระบาดในประเทศไทย

ชื่อสามัญ : The Oil Palm Slug Caterpillar
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Darna Diducta Snellen
ชื่อเดิม : Ploneta Diducta Snellen
ชื่อวงศ์ : Limacodidae
ชื่ออันดับ : Lepidoptera

ลักษณะการทำลาย
หนอนร่านสีน้ำตาล-เป็นหนอนกัดทำลายใบปาล์มน้ำมัน ถ้าอาการรุนแรงมากใบถูกกัดจนเหลือแต่ก้านใบ อาจถึงขั้นใบโกร๋นทั้งต้น  เมื่อเกิดมีการระบาดแต่ละครั้งมักต้องใช้เวลาในการกำจัดนานเป็นเพราะหนอนมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน เช่น มีทั้งระยะที่เป็นหนอน มีทั้งระยะดักแด้ เราจึงไม่สามารถกำจัดให้หมดได้ในคราวเดียวได้

การระบาด
มักพบการระบาดบนต้นปาล์มน้ำมัน และมักพบการระบาดในช่วงฤดูแล้ง

วงจรชีวิต (รวม45-55วัน)
-ระยะไข่ 4 วัน รูปไข่สีใส แบนราบติดใบผิวเป็นมัน คล้ายหยดน้ำค้าง ถ้าส่องกับแสงแดดจะทำให้เห็นไข่ชัดเจนขึ้น ผีเสื้อจะวางไข่เป็นฟองได้ถึง 60-255 ฟอง กระจัดกระจายใต้ใบย่อยของทางใบปาล์มน้ำมัน ขนาดไข่ประมาณ 1.1×1.4 มิลลิเมตร
-ระยะหนอน 30-37 วัน หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ ๆ มีสีน้ำตาลอ่อน มีกลุ่มขนบนลำตัวเห็นไม่ชัดเจน ส่วนหัวหลบซ่อนอยู่ใต้ลำตัว เคลื่อนไหวช้า หนอนวัยนี้จะกินแทะผิวใบและก้านใบด้วย หนอนที่เจริญเต็มที่มีขนาดลำตัวกว้าง 5-6 มิลลิเมตร ยาว 17-22 มิลลิเมตร สีของลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเทา หรือมีแต้มสีเหลืองอยู่ประปราย
-ระยะดักแด้ 11-14 วัน รังดักแด้สีน้ำตาล รูปทรงกลม ขนาดของรังดักแด้โดยประมาณ 9 x 11 มม. รังดักแด้จะอยู่ตามซอกโคนทางใบซอกมุมของใบย่อยหรือตามใบพับของใบย่อย
-ระยะตัวเต็มวัย 2-9 วัน เป็นผีเสื้อกลางคืนนาดเล็ก เวลากลางวันผีเสื้อเกาะนิ่งหุบปีกไม่เคลื่อนไหว จะเคลื่อนไหวบินในช่วงพลบค่ำจนถึงรุ่งเช้า ไม่เคลื่อนไหวในเวลากลางวัน

การป้องกันการระบาด (หนอนหน้าแมว / หนอนร่านสี่เขา / หนอนร่านสีน้ำตาล)
1. หมั่นสำรวจการระบาดของหนอนหน้าแมวเป็นประจำ เมื่อพบกลุ่มหนอนให้ติดตามด้วยว่าหนอน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพื่อตัดสินใจพ่นสารฆ่าแมลงกำจัดก่อนที่หนอนจะเพิ่มขยายจนเป็นวงกว้าง
2. ควรเลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีผลกระทบต่อศัตรูธรรมชาติน้อยที่สุด เพราะแมลงศัตรูธรรมชาติในสวนปาล์มน้ำมันเหล่านี้มีความสามารถในการควบคุมหนอนได้อย่างดี
3. ไม่ควรใช้สารกำจัดวัชพืชมากเกินไป และควรมีพืชคลุมดิน หรือปล่อยให้มีวัชพืชต้นเล็กที่ออกดอกสม่ำเสมอขึ้นอยู่ในสวน เพื่อเป็นแหล่งอาหารของแมลงศัตรูธรรมชาติ

การกำจัด (หนอนหน้าแมว / หนอนร่านสี่เขา / หนอนร่านสีน้ำตาล)
1. โดยวิธีจับแมลงโดยตรง เช่น ตัดใบย่อยที่มีหนอนทำลายหรือจับผีเสื้อ ซึ่งเกาะนิ่งในเวลากลางวันตามใต้ทางใบปาล์มน้ำมัน หรือเก็บดักแก้ตามซอกโคนทางใบรอบลำต้น
2. ใช้กับดักแสงไฟ โดยใช้แสงไฟ Black light หรือหลอดนีออนธรรมดา วางบนกะละมังพลาสติก ซึ่งบรรจุน้ำผสมผงซักฟอก ให้หลอดไฟอยู่เหนือน้ำประมาณ 5 – 10 ซม. วางล่อผีเสื้อช่วงเวลา 18.00 – 19.00 น. สามารถช่วยกำจัดการขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไป
3. ใช้สารฆ่าแมลงพ่น เริ่มพ่นสารตั้งแต่หนอนยังเล็กอยู่ ควรพ่นซ้ำที่เดิมอีก 1 ครั้ง โดยห่างจากครั้งแรกประมาณ 10 วัน ได้แก่
-carbaryl (Sevin 85 % MP) ต่ออัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร lambda cyhalothrin (Karate 2.5 % EC) ในอัตรา 10 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร
-trichlorfon (Dipterex 95 % WP) ในอัตรา 15 – 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร deltamethrin (Decis 3 % EC) ในอัตรา 5 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร
-permethrin (Ambush 25 % EC) ในอัตรา 5 – 10 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร
-cyfluthrin (Baythriod 10 % EC ) ในอัตรา 5 – 10 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร
-chlorpyrifos (Lorsban 40 % EC) ในอัตรา 20 – 30 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร
-pirimiphos methyl (Actellic 50 % EC) ในอัตรา 20 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร
4. ใช้สารฆ่าแมลงประเภทพ่นฝุ่น เช่น carbaryl (Sevin 5% D)หรือ fenvalerate (Sumicidin 0.3% D) พ่นในช่วงที่มีน้ำค้างเกาะที่ใบ (เวลากลางคืน) ซึ่งต้องระมัดระวังในการปฏิบัติงาน และใช้ในกรณีจำเป็นจริง ๆ
5. ใช้เชื้อ Bacillus thuringiensis (เชื้อ 16,000 i.u) จำนวน 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สารฆ่าแมลงประเภทเชื้อแบคทีเรียทำลายเฉพาะหนอนแมลงศัตรูปาล์มน้ำมันเท่านั้น ไม่ทำอันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์
6. การเจาะลำต้นใส่สารฆ่าแมลงประเภทดูดซึม จำนวน 10 – 15 มล. ต่อต้น
7. ใช้สารสกัดสะเดา กลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้ทดลองโดยใช้สะเดาอัตราความเข้มข้น 5 % สามารถกำจัดหนอนได้ผลดี
8. การใช้วิธีผสมผสาน เป็นการนำวิธีการกำจัดหลายๆ วิธีมาใช้ร่วมกัน เช่น
-การใช้กับดักแสงไฟล่อผีเสื้อในช่วงดักแด้กำลังออกเป็นผีเสื้อสลับกับการใช้สารฆ่าแมลงหรือเชื้อแบคทีเรียในช่วงเป็นหนอนวัยที่ 2 – 3
-การใช้เชื้อแบคทีเรียสลับกับการใช้สารฆ่าแมลง
-การใช้ตัวห้ำสลับกับการใช้เชื้อแบคทีเรีย
-การใช้ระดับเศรษฐกิจเป็นเครื่องกำหนดการฉีดพ่นสารฆ่าแมลง หรือเชื้อแบคทีเรีย
9. ในกรณีที่มีการระบาดเป็นพื้นที่กว้าง สามารถพ่นสารฆ่าแมลงทางเครื่องบิน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดแรงงาน


4 หนอนปลอกเล็ก

ชื่อสามัญ The Case Caterpillar
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cremastopsyche pendula Joannis
ชื่อวงศ์ Psychidge
ชื่ออันดับ Lepidoptera

ลักษณะการทำลาย
หนอนปลอกเล็กจะแทะผิว ทำให้ใบแห้งเป็นสีน้ำตาล และกัดทะลุใบเป็นรูและขาดแหว่ง ถ้ารุนแรงจะเห็นทางใบทั้งต้นเป็นสีน้ำตาลแห้ง ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
ไข่ สีครีม รูปทรงกลมอยู่เป็นกลุ่ม วางไข่ในซากดักแด้ของตัวเมียเอง และอยู่ภายในปลอกหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ขนาดของไข่ 0.45 x 0.65 มม. อายุไข่นับตั้งแต่ ตัวเต็มวัยถูกผสมและวางไข่อยู่ภายในรังดักแด้

หนอนปลอกเล็ก คือ ศัตรูปาล์มน้ำมันชนิดนึง หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ มีลำตัวสีน้ำตาลไหม้ หัวสีดำ ขนาดความยาวประมาณ 0.8-1 มม. เวลาหนอนเคลื่อนไหวจะยกส่วนท้องขึ้นและแทะผิวใบผสมกับใยที่ออกมาจากปาก สร้างปลอกห่อหุ้มตัวเอง โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงปลอกมีสีน้ำตาล ผิวเรียบ ขนาดปลอกมีความยาวตั้งแต่ 1.1-1.2 มม. ลักษณะปลอกมีรูเปิด 2 ทางเช่นเดียวกับหนอนปลอกใหญ่ส่วนหัวของตัวหนอนจะโผล่ออกมาทางช่องเปิดส่วนฐานปลอก ปลายปลอกเรียวแหลมมีรูเปิดไว้เพื่อให้หนอนขับถ่ายมูลออกมา หนอนวัยที่ 3 ส่วนหัวและลำตัวมีสีน้ำตาล หนอนจะสร้างปลอกหุ้มใหญ่ขึ้น และเริ่มนำเศษชิ้นส่วนของใบพืชแห้งชิ้นเล็ก ๆ ปะติดกับปลอกหุ้มด้วย ทำให้ผิวปลอกเริ่มขรุขระ หนอนวัย 1 – 4 กินอาหารแบบแทะผิวใบ หนอนวัยที่ 5 – 6 จะกัดกินทั้งใบ เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่จะสร้างปลอกหุ้มตัวเองมีขนาดยาวตั้งแต่ 6.8 – 10.0 มม. ช่องเปิดฐานปลอกมักพบคราบกะโหลกขนาดต่าง ๆ ติดอยู่

5 หนอนทราย

หนอนทราย คืออะไร : หนอนทรายเป็นตัวอ่อนของแมลงปีกแข็ง ตระกูล เมโลลอนติดี้ ลำตัวอ้วนป้อม มีกรามใหญ่ แข็งแรง เคลื่อนที่ได้ด้วยการยืดและหดของลำตัว ส่วนท้องมีขนและหนาม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่ใช้แยกชนิดของหนอนทราย  ปัจจุบันหนอนทรายกำลังสร้างปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับเกษตรการชาวสวนปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเจ้าหนอนทรายหรือหนอนกราก ได้เข้ามากัดกินรากปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 1 -4 จนยืนต้นตายนับพันไร่

หนอนทราย กับ การระบาดในประเทศไทย : ในช่วงประมาณปี 2552 พบหนอนทรายระบาดกัดกินรากต้นปาล์ม ทำให้ยืนต้นตาย จังหวัดพังงา เสียหายกว่าพันไร่ ซึ่งเมื่อขุดใต้โคนต้นปาล์มน้ำมันขึ้นมาก็พบหนอนทราย จำนวนมากกัดกินรากต้นปาล์มน้ำมัน เมื่อขุดต้นอื่นดูก็พบมีหนอนทรายแทบทุกต้น ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรอย่างมาก โดยมักพบในปาล์มน้ำมันที่มีอายุตั้งแต่ 1-4 ปี หนอนทรายหรือหนอนกรากได้กัดกินตั้งแต่โคนต้นจนถึงราก ทำให้ปาล์มนับพันไร่ จำนวนกว่า 400-500 ต้น ทยอยยืนต้นตาย ซึ่งทางเจ้าของสวนได้ทดลองใช้วิธีขุดโคนต้นเพื่อใส่ยากำจัดหนอน แต่ก็ไม่ได้ผล ซึ่งพบว่าปาล์มน้ำมันแต่ละต้นจะมีหนอนทรายหรือหนอนกราก 5-12 ตัวชอนไชกัดกินรากต้นปาล์มจนยืนต้นตาย

การป้องกันกำจัดหนอนทราย : 
1. ดักจับตัวเต็มวัยช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ด้วยกับดักแสงไฟหรือตาข่ายในช่วงพลบค่ำ จะช่วยลดปริมาณแมลงได้เป็นอย่างดี
2. ปลูกตะไคร้ ซึ่งเป็นพืชที่หนอนชอบ เพื่อล่อให้หนอนออกมา แล้วจับทำลาย
3. ใช้สารเคมี ราดรอบโคนต้นปาล์ม แล้วกลบดิน  ดังนี้
– คาร์โบซัลแฟน(Carbosulfan) 20%EC อัตรา 140-80 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรอบๆ โคนต้นที่ถูกหนอนทรายทำลาย และต้นข้างเคียงต้นละ 1-2 ลิตร
– ฟิโปรนิล(Pipronil) 5%SC อัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรอบๆ โคนต้นที่ถูกหนอนทรายทำลาย และต้นข้างเคียงต้นละ 1-2 ลิตร
4. ใช้สารเคมี ราดรอบโคนต้นปาล์ม
– พอสซ์ 80 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ 2 ลิตรต่อต้น หรือฟูราดานอัตรา 30-100 กรัม ต่อต้นขึ้นอยู่กับขนาดของต้นปาล์ม

ด้วง

1 ด้วงแรด

ชื่ออื่น –
ชื่อสามัญ : Coconut Rhinoceros Beetle
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oryctes rhinoceros L.,Oryctes gnu Mohner
ชื่อวงศ์ : Scarabaeodae

ชื่ออันดับ : Coleoptera
ความสำคัญ
ด้วงแรด ศัตรูปาล์มน้ำมัน ประเภทแมลง ที่สำคัญของ มะพร้าวและปาล์มน้ำมัน มี 2 ชนิด คือ ด้วงแรดชนิดเล็ก
ชื่อ Oryctes rhionoceros L.พบทั่วทุกภาคของประเทศไทยและพบบ่อยที่สุด อีกชนิดหนึ่ง คือ ด้วงแรดชนิดใหญ่ ชื่อ Oryctes gnu Mohner มักพบไม่บ่อยนัก ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปทางภาคใต้ของประเทศ ในปาล์มน้ำมันเริ่มมีความสำคัญมากเพราะเริ่มมีการโค่นล้มต้นปาล์มอายุมากและปลูกทดแทนใหม่ ทำให้มีแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรดมากขึ้น ประชากรของด้วงแรดจึงเพิ่มมากขึ้น และเข้าทำลายต้นปาล์มที่ปลูกใหม่ ตั้งแต่ต้นปาล์มน้ำมันขนาดเล็กจนถึงต้นปาล์มน้ำมันให้ผลผลิต สำหรับต้นปาล์มน้ำมันขนาดเล็ก โอกาสทำให้ต้นผิดปกติและตายมีมากที่สุด ปกติด้วงแรดไม่สามารถเกิดการระบาดได้เลย เหตุที่เกิดการระบาด อาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากความละเลยของมนุษย์ที่ปล่อยให้มีแหล่งขยายพันธุ์จำนวนมาก ทำให้ด้วงแรดเพิ่มปริมาณมากจนเข้าทำลายพืชให้ได้รับความเสียหาย สาเหตุที่เกิดเองตามธรรมชาติน้อยมาก การเกิดวาตภัย เช่น พายุไต้ฝุ่นเกย์ ทำให้ต้นมะพร้าวและปาล์มน้ำมันล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งขยายพันธุ์ขนาดใหญ่ของด้วงแรดในเวลาต่อมา


ลักษณะการทำลาย
ตัวเต็มวัยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบ ทำให้ทางใบหักง่าย และกัดเจาะทำลายยอดอ่อน ทำให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้ว ๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม ถ้าโดนทำลายมาก ๆ ทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกรน รอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเป็นทางให้เกิดโรคยอดเน่า จนถึงต้นตายได้ในที่สุด

แหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรด
แหล่งขยายพันธุ์ได้แก่ ซากเน่าเปื่อยของลำต้นหรือตอของต้นปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว ซากพืชที่เน่าเปื่อยเช่น ซากทะลายปาล์ม กองมูลสัตว์เก่า กองปุ๋ยคอก กองขุยมะพร้าว กองกากเมล็ดกาแฟ กองขยะ เป็นต้น แหล่งขยายพันธุ์เหล่านี้เป็นสถานที่ผสมพันธุ์ วางไข่ และแหล่งอาหารของหนอนวัยต่าง ๆ จนเข้าดักแด้และเป็นตัวเต็มวัย

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
รูปร่างลักษณะ
ด้วงแรดชนิดเล็กและด้วงแรดชนิดใหญ่มีรูปร่างลักษณะและชีวประวัติคล้ายคลึงกันมาก ต่างกันเพียงขนาดของลำตัว และขอบของแผ่น ปกคลุมด้านหลังของส่วนอกซึ่งมีลักษณะคล้ายฟันเล็ก ๆ ด้วงแรดชนิดใหญ่มี 3 ซี่ ด้วงแรดชนิดเล็กมี 2 ซี่
ไข่
มีลักษณะกลมรี สีขาวนวล มองเห็นได้ชัดขนาดกว้าง 2-3 มม. ยาว 3-4 มม. เมื่อใกล้ฟักไข่จะมีสีน้ำตาลอ่อน ไข่ถูกวางลงลึกไปประมาณ 5-15 ซม. ในแหล่งขยายพันธุ์ที่ผุพัง
หนอน
ระยะดักแด้
เมื่อฟักออกมาจากไข่ใหม่ ๆ มีลำตัวสีขาว ขนาด 2 x 7.5 มม. หัวกะโหลกสีน้ำตาลอ่อน กว้างประมาณ 2 – 2.5 มม. มีขาจริง 3 คู่ ด้านข้างลำตัวมีรูหายใจจำนวน 9 คู่ เมื่อหนอนกินอาหารแล้วผนังลำตัวจะมีลักษณะโปร่งใส มองเห็นภายในสีดำ เมื่อหนอนลอกคราบครั้งที่ 1 หัวกะโหลกจะมีสีขาวนวล กว้างประมาณ 4.5 มม. ต่อมาหัวกะโหลกมีสีน้ำตาลแดง ขนาดลำตัวประมาณ 4.5 x 2.5 มม. ลักษณะลำตัวหนอนเหมือนเดิม เมื่อหนอนเจริญเติบโตขึ้นจะลอกคราบครั้งที่ 2 ทำให้เห็นหัวกะโหลกกว้างประมาณ 10 มม. ขนาดลำตัวประมาณ 11 x 50 มม. ลำตัวสีขาวเข้ม เห็นรูหายใจข้างลำตัวสีน้ำตาลเด่นชัด มีขนสีน้ำตาลขึ้นอยู่ทั่วลำตัวเด่นชัดเช่นกัน หนอนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 60 – 90 มม.

ดักแด้
เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่จะหยุดกินอาหารและสร้างรังเป็นโพรง หนอนจะ หดตัวอยู่ภายในเป็นเวลา 5 – 8 วัน จึงเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้ แบบ exarate มีน้ำตาลแดง ขนาดประมาณ 22 x 50 มม. สามารถแยกเพศได้ โดยดักแด้เพศผู้เห็นส่วนที่เป็นระยางค์คล้ายเขายื่นยาวชัดเจนกว่าของเพศเมีย"

ตัวเต็มวัย
เป็นด้วงปีกแข็งสีดำ เป็นมันวาว ใต้ท้องสีน้ำตาลแดง มีขนาดกว้าง 20 – 23 มม. ยาว 30 – 52 มม. สามารถแยกเพศได้โดยตัวเต็มวัยเพศผู้มีเขาลักษณะคล้ายเขาแรด อยู่บนส่วน หัวยาวโค้งไปทางด้านหลังขณะที่เขาของตัวเต็มวัยเพศเมียสั้นกว่า และบริเวณท้องปล้องสุดท้ายของเพศเมียสีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่นกว่าของเพศผู้

ชีวประวัติ
ระยะไข่ 10 – 12 วัน
ระยะหนอน 80 – 150 วัน
ระยะดักแด้ 23 – 28 วัน
ระยะตัวเต็มวัย 90 – 180 วัน
หนอนมีการลอกคราบ 2 ครั้ง 3 วัย

วงจรชีวิต
ตั้งแต่ไข่จนถึงดักแด้ออกเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 4 – 9 เดือนโดยเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ดังนั้น ใน 1 ปี ด้วงแรดจึงมี 2 รุ่น (generation)

การผสมพันธุ์และปริมาณการวางไข่
ด้วงแรดมีอายุยืนยาวหลายเดือน จึงมีการผสมพันธุ์หลายครั้งตลอดอายุขัย จากรายงานพบว่าด้วงแรดเพศเมียรับการผสมพันธุ์สูงสุดถึง 8 ครั้ง แต่ยังพบว่าด้วงแรดเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์ครั้งเดียว สามารถวางไข่ที่สมบูรณ์ได้นานถึง 130 วันด้วงแรดชอบวางไข่ในแหล่งขยายพันธุ์ที่มีความชื้นพอเหมาะที่อุณหภูมิระหว่าง 20 – 30 0C ด้วงแรดเพศเมียจะรับการผสมพันธุ์และวางไข่ เมื่อออกจากดักแด้แล้วประมาณ 40 – 50 วัน วางไข่ครั้งละประมาณ 10 – 30 ฟอง วางไข่ได้สูงสุดประมาณ 152 ฟอง

พฤติกรรมต่าง ๆ ของด้วงแรด
หนอนวัยต่าง ๆ ดักแด้ และไข่ ชอบซุกซ่อนตัวเอง จึงพบอยู่ในแหล่งที่ไม่มีแสงสว่าง แต่ตัวเต็มวัยของด้วงแรดเท่านั้นที่ทำลายพืชสด มักพบในแหล่งที่เป็นอาหาร เช่น ภายในรูที่เจาะกินยอดปาล์มน้ำมัน อาจพบมากกว่า 1 ตัว นอกจากนี้ยังพบในแหล่งขยายพันธุ์อีกด้วย ด้วงบินออกหากินในเวลาพลบค่ำและเวลาก่อนตะวันขึ้น มักพบด้วงแรดมาเล่นไฟนีออนหลังฝนตก ในเวลากลางคืนด้วงแรดมักบินไปมาในระยะทางสั้นๆ ระหว่างแหล่งที่เป็นอาหาร และที่เป็นแหล่งขยายพันธุ์เท่านั้น ด้วงแรดสามารถบินได้นาน 2 – 3 ชั่วโมง และเป็นระยะทางไกล 2 – 4 กิโลเมตร

ดักแด้
มักพบในแหล่งขยายพันธุ์ที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าพบในซากท่อนมะพร้าว ปาล์มน้ำมันที่ผุพัง
หนอนวัยสุดท้ายจะสร้างเป็นโพรงรูปไข่เพื่อเข้าดักแด้ แต่ถ้าอยู่ในกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กากกาแฟ กองขี้เลื่อย กองขยะ กองเศษพืชที่เน่าเปื่อย หนอนวัยสุดท้ายจะสร้างรัง (cocoon) ด้วย วัสดุเหล่านั้นเป็นก้อนรูปไข่ขนาดใหญ่ และหนอนเข้าดักแด้อยู่ภายใน ยังพบหนอนเข้าดักแด้ในดินอีกด้วย มีรายงานว่าพบดักแด้ลงใต้ดินลึกถึง 150 ซม และมักพบตัวเต็มวัยที่ออกจากดักแด้ จะอาศัยอยู่ในรังดักแด้อีกประมาณ 11 – 20 วัน จึงจะออกมาหากินต่อไป

หนอน
ลักษณะหนอนของด้วงแรดสามารถสังเกตได้อย่างหนึ่ง คือหนอนจะงอตัวเสมอเป็นอักษรซี บางครั้งเห็นส่วนหัวกับส่วนท้ายลำตัวเกือบชนกัน หนอนถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมอาจมีอายุยืนยาวถึง 420 วัน

พืชอาหาร
สกุลปาล์มน้ำมันทุกชนิด เช่นมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ปาล์มประดับ

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
ด้วงแรดเกิดแพร่กระจายทั่วประเทศและตลอดปี สำหรับปริมาณจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแหล่งขยายพันธุ์

ศัตรูธรรมชาติ
พบโรคที่สามารถทำลายด้วงแรด ดังนี้
1. เชื้อราเขียว ชื่อ Metarrhizium anisopliae (Metsch) Sorokin
สามารถทำลายหนอน ด้วงแรด โดยมีสีขาวจับเป็นก้อนอยู่ภายนอกตัวหนอน ต่อไปจะเกิดโคนีเดียสีเขียวทำให้เห็นหนอนมีสีเขียวและตายในที่สุดเชื้อรานี้อาจทำลายดักแด้และตัวเต็มวัยได้ด้วย"
2. เชื้อไวรัส ชื่อ Rhabdionvirus oryctes Huger หรือเรียกว่า Baculovirus
ทำลายตัว เต็มวัย หนอน ดักแด้ หนอนที่เป็นโรคไวรัสตาย สังเกตเห็นส่วนของก้น (rectum) จะพองโตยื่นออกมา"

การป้องกันกำจัดด้วงแรด
พบโรคที่สามารถทำลายด้วงแรด ดังนี้
1. โดยวิธีเขตกรรม คือการกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลงทุนน้อย สะดวกในการทำเพราะอยู่บนพื้นดิน สามารถกำจัดไข่หนอน ดักแด้และตัวเต็มวัย ไม่ให้เพิ่มปริมาณได้ โดยยึดหลักว่าไม่ควรปล่อยให้แหล่งขยายพันธุ์เหล่านี้ทิ้งไว้นานเกิน 3 เดือน โดยปฏิบัติดังนี้
  ■ เผาหรือฝังซากลำต้นหรือตอของปาล์มน้ำมันหรือมะพร้าว
  ■ เกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความสูงไม่เกิน 15 ซม.
  ■ ถ้ามีความจำเป็นต้องกองนานเกินกว่า 2 – 3 เดือน ควรหมั่นพลิกกลับกองเพื่อตรวจหาไข่ หนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัยเพื่อกำจัดเสีย
2. โดยวิธีกล หมั่นทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าวหรือปาล์ม ตามโคนทางใบ
หากพบรอยแผลเป็นรูใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรดเพื่อกำจัดเสีย พร้อมใส่สารฆ่าแมลงป้องกันด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่
3. ใช้ฮอร์โมนเพศ เป็นกับดักล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย ขณะนี้สามารถสังเคราะห์และผลิตเป็นรูปการค้า มีชื่อว่า chrislure มาจากสารเคมีชื่อ ethyl dihydrochrysanthemumate และชื่อ rhinolure มาจากสารเคมีชื่อ ethyl chrysanthemumate
4. โดยใช้สารฆ่าแมลง carbofuran (Furadan 3 % G) อัตรา 200 กรัมต่อต้น ใส่รอบยอดอ่อน และซอกโคนทางใบถัดออกมา หรือสาร chlorpyrifos (Lorsban 40 % EC) อัตรา 80 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรอบยอดอ่อน และโคนทางใบถัดมา ต้นละประมาณ 1 ลิตรเดือนละ 1 ครั้ง หรือใช้สาร carbaryl (Sevin 85 % WP) ผสมขี้เลื่อยในอัตรา สารฆ่าแมลง 1 ส่วนต่อขี้เลื่อย 33 ส่วน ใส่รอบยอดอ่อน ซอกโคนทางใบเดือนละ 1 ครั้ง หรือใช้สารไล่ naphthalene ball (ลูกเหม็น) อัตรา 6 – 8 ลูก ต่อต้นโดยใส่ไว้ที่ซอกโคนทางใบ
5. โดยชีววิธี ในธรรมชาติจะมีเชื้อราเขียวและเชื้อไวรัสช่วยทำลายหนอนด้วงแรด จึงมีการพัฒนานำมาใช้ในการป้องกันกำจัด เช่น ใช้เชื้อราเขียว อัตรา 200 – 400 กรัมต่อกับดักขนาด 2 x 2 x 0.5 เมตร กับดักประกอบด้วย ซากเน่าเปื่อยของพืช ขี้วัว ขุยมะพร้าว กากกาแฟ และขี้เลื่อย เป็นต้น ผสมคลุกกันเพื่อให้ด้วงแรดมาวางไข่และขยายพันธุ์ จนถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายหนอน ดักแด้โดยจะมีลำตัวสีเขียวคล้ำและตายในที่สุด

แนวทางการบริหารด้วงแรดทำลายปาล์มน้ำมัน
การกำจัดที่ดีที่สุด คือ การกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ เช่น ซากทะลายปาล์มน้ำมัน ที่เหลือจากการสกัดน้ำมันแล้วจะต้องกองทิ้งไว้ไม่เกิน 3 เดือน ควรเกลี่ยให้กระจายให้หนาประมาณ 15 ซม. ควรกำจัดซากต้นปาล์มที่ล้มตายในสวนให้หมด ถ้าพบ ไข่ หนอน ดักแด้ ของด้วงแรดควรจับมาทำลายการใช้ราเขียวในการกำจัดหนอนด้วงแรดในแหล่งขยายพันธุ์ ทำได้โดยทำกับดักกองปุ๋ยขนาด 2 x 2 x 0.5 เมตร เมื่อกองปุ๋ยเริ่มเปื่อยใส่เชื้อราเขียว 200 – 400 กรัม ต่อกับดักคลุกให้ทั่ว สามารถลดจำนวนด้วงแรดในสวนลงได้บ้าง


แหล่งขยายพันธุ์
-กองซากทะลายปาล์มน้ำมัน
-ลำต้นปาล์มล้มตาย
-กองขุยมะพร้าว
-กองกากกาแฟ
-กองมูลสัตว์
-ต้นมะพร้าวยืนตาย

2 ด้วงกุหลาบ

ชื่ออื่นๆ –
ชื่อสามัญ : Rose Beetle
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adoretus compressus Weber
ชื่อวงศ์ : Rutelidae
ชื่อลำดับ : Coleoptera

ศัตรูปาล์มน้ำมัน “ด้วงกุหลาบ” ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
ด้วงกุหลาบ จะกัดกินทำลายใบปาล์มน้ำมันเล็กในแปลงปลูก โดยเฉพาะในที่ดินบุกเบิกใหม่ จะกัดใบในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น ถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ต้นปาล์มน้ำมันขนาดเล็กใบโกร๋นหมด และชะงักการเจริญเติบโต

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
ด้วงวางไข่ในดินเป็นฟองเดี่ยวๆ ไข่ที่ออกใหม่ๆ มีลักษณะกลมรี เปลือกเรียบสีขาวขุ่นมีขนาดกว้าง 0.8 มม. ยาว 1.3 มม. ต่อมาประมาณ 3-5 วัน ไข่จะกลมขึ้นและเป็นสีเหลือง ระยะไข่ขึ้นกับอุณหภูมิของอากาศ ที่อุณหภูมิ 25 0C ระยะไข่เฉลี่ย 6.5 วันส่วนที่อุณหภูมิ 22 0C ระยะไข่เฉลี่ย 8.9 วัน และจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มภายใน 1-2 วัน จึงฟักออกเป็นตัวหนอน

-ตัวหนอน
อาศัยอยู่ในดิน ไม่ปรากฏว่าทำความเสียหายให้แก่ต้นพืช ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ มีสีขาวและตัวโค้งงอหัวสีน้ำตาลอ่อนมีเขี้ยวเห็นได้เด่นชัด หนอนที่โตเต็มที่หัวกะโหลกกว้าง 3 มม. และลำตัวยาว 13 – 20 มม. ลำตัวสีขาวมีขนสั้นๆ กระจายทั่วไป ตามลำตัวมีรอยพับย่น ซึ่งจะเป็นปล้อง มีขา 3 คู่ ที่ส่วนอกมีรูหายใจตามข้างลำตัว ข้างละ 8 รูปลายท้องใหญ่ทำให้เคลื่อนไหวไปมาไม่สะดวก หนอนจะมุดดินอยู่ลึกลงไป 3 – 6 นิ้ว และทำเป็นโพรงรอบๆ ตัวเพื่อเป็นที่อาศัย หนอนมีการลอกคราบ 3 ครั้ง
-ดักแด้
ตัวหนอนจะหยุดกินอาหารไม่เคลื่อนที่ และหดตัวเล็กลงก่อนเข้าดักแด้ ลักษณะของดักแด้เป็นแบบ exarate pupaสีเหลืองอ่อน มีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ที่ปลายท้องที่ขนสีน้ำตาลแดง 2 กระจุก ขนาดของดักแด้ 5.6 x 11.3 มม.
-ตัวเต็มวัย
เป็นด้วงปีกแข็งลำตัวป้อมค่อนข้างแบน สีน้ำตาลอ่อน ตาสีดำ มีขนสั้นละเอียดปกคลุมทั่วตัว เพศผู้มีขนาด 4.8×10.3 มม. เพศเมียมีขนาด 5.6×11.2 มม. เพศเมียจะวางไข่เดี่ยว ๆ ในเวลากลางวัน วางไข่ประมาณ 3 – 12 ครั้ง เฉลี่ย 6 ครั้ง ๆ ละ 2 – 5 ฟอง ช่วงการวางไข่ 6 – 20 วัน จำนวนไข่ 10 – 70 ฟอง หรือโดยเฉลี่ย 30 ฟอง

ชีวประวัติ
ระยะไข่ 5 – 11 วัน
ระยะหนอน 52 – 95 วัน
ระยะดักแด้ 11 – 14 วัน
ระยะตัวเต็มวัยเพศผู้ 7 – 26 วัน
เพศเมีย 12 – 57 วัน
หนอนมีการลอกคราบ 3 ครั้ง

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
พบด้วงกุหลาบมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน พบในที่ดินมีการบุกเบิกใหม่ เพื่อทำการปลูกปาล์มน้ำมันและเกิดกับปาล์มน้ำมันในระยะแรกปลูกเท่านั้น

การป้องกันกำจัด
ใช้สารฆ่าแมลงประเภท carbaryI (Sevin 85% WP) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร carbosulfan (Posse 20% EC) อัตรา 40 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 – 10 วัน ในตอนเย็นทั้งใบและบริเวณโคนต้น

ด้วงงวงมะพร้าว

ด้วงงวงมะพร้าว จัดว่าเป็นด้วงงวงขนาดกลาง ตัวเต็มวัย ปีกมีสีน้ำตาลดำ อกมีสีน้ำตาลและมีจุดสีดำ มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 25-28 มิลลิเมตร ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีขนาดและลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ตัวผู้มีขนที่ด้านบนของงวงใกล้ส่วนปลาย ตัวหนอนมีสีเหลืองปนน้ำตาล ดักแด้เป็นปลอกทำด้วยเศษชิ้นส่วนจากพืชที่กินเป็นอาหาร

โดย ด้วงงวงมะพร้าว มีลักษณะทางชีววิทยาที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงวัยหลักๆดังนี้
1. ไข่ ไข่ดวงงวงมะพร้าว จะมีลักษณะสีขาว รูปร่างยาวรี วางไข่เดี่ยวๆ
โดยด้วงงวงเพศเมียจะใช้งวงเจาะเข้าไปในรอยแผลที่ด้วงแรดเข้าทำลายให้เป็นรูก่อนแล้วจึงใช้อวัยวะสำหรับวางไข่สอดเข้าไปวางไข่ในรูดังกล่าว ไข่มีความกว้างประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ยาว 2 มิลลิเมตรไข่บางฟองจะมีช่องอากาศ สามารถ มองเห็นเป็นลักษณะใสๆ อยู่ที่ปลายอีกข้างหนึ่ง
2. หนอน ระยะที่ด้วงงวงมะพร้าวเป็นหนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ
จะมีลักษณะสีขาวหัวสีน้ำตาลแดง ไม่มีขา ลำตัวย่นเป็นปล้องๆ ความกว้างประมาณ 0.9 เซนติเมตร หนอนจะเจริญเติบโต และลอกคราบ >10-11 ครั้ง หนอนที่โตเต็มที่มีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร
3. ดักแด้ ระยะดักแด้ เป็นช่วงที่หนอนเตรียมตัวจะเข้าดักแด้จะสร้างรังโดยใช้เส้นใยจากอาหารที่มันกิน
เช่น ถ้าเป็นหนอนที่เลี้ยงด้วยเปลือกมะพร้าวอ่อน หนอนจะใช้ใยของเปลือกมะพร้าวสร้างรัง ถ้าหนอนเกิดอยู่ภายในต้นมะพร้าวก็จะใช้เส้นใยจากต้นมะพร้าวสร้างรังดักแด้ ลักษณะรังดักแด้เป็นรูปยาวรี เส้นใยที่ใช้สร้างรังหนาแน่นมากจนมองไม่เห็นตัวหนอน หนอนในรังที่เตรียมเข้าดักแด้จะไม่กินอาหารประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจึงเปลี่ยนรูปเป็นดักแด้สีขาวนวล ลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย
4. ตัวเต็มวัย  เมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยใหม่ๆ จะยังไม่เจาะออกมาจากรังที่หุ้มตัวอยู่
และจะอยู่ในรังดักแด้ประมาณ 2-5 วัน จึงกัดรังออกมาภายนอก ลักษณะของด้วงงวงเล็ก สีของลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำ ส่วนหัวมีงวงยาวเรียวยื่นออกมาปลายงวง ซึ่งเป็นส่วนปากที่มีขนาดเล็กมาก บนส่วนหลังของอกสีน้ำตาลแดงอาจมีจุดหรือลายลักษณะต่างๆ ด้วงงวงเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะของปลายงวงแตกต่างกันคือ งวงของเพศผู้มีขนสั้นๆ ขึ้นหนาแน่นตามแนวยาวของงวง ขนาดของงวงสั้นกว่าของตัวเมีย งวงของเพศเมียจะมีขนาดยาวกว่า และไม่มีขนบริเวณปลายงวง ด้วงงวงเพศเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้สูงสุด 527 ฟอง ในเวลา 112 วัน ใน 1 วันสามารถวางไข่ได้สูงสุด 30 ฟอง การฟักของไข่ประมาณ 80 %

วิธีป้องกัน
1. ป้องกันการระบาดของด้วงแรดมะพร้าว โดยใช้สารฆ่าแมลงคาโบซัลแฟน (carbofuran) (Furadan 3% G) อัตรา 200 กรัมต่อต้น ใส่รอบยอดอ่อน และซอกโคนทางใบถัดออกมา หรือฉีดพ่นสารคลอไพริฟอส (chlorpyrifos) (Lorsban 40% EC) อัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรอบยอดอ่อน และโคนทางใบถัดมา ต้นละประมาณ 1 ลิตร เดือนละ 1 ครั้ง
2. ใช้นำมันเครื่องยนต์ที่ใช้แล้วหรือชัน ผสมกับน้ำมันยาง ทาบริเวณโคนต้นหรือลำต้นเพื่อป้องกันไม่ให้ด้วงมาวางไข่


อ้างอิง : http://www.cpiagrotech.com/category/knowledge/